“ศิลปชัย” สั่งหารือกรมธนารักษ์เร่งสรุปหาที่ตั้งกระทรวงคมนาคมแห่งใหม่ภายใน ต.ค.นี้ พร้อมเปิด 5 ทำเลเป้าหมาย เช่น ย่านคลองเตย, สถานีแม่น้ำ (พระราม 3), มักกะสัน, กม.11 และบางปิ้ง ตั้งศูนย์ราชการแห่งที่ 2 ย้ายกระทรวงริม ถ.ราชดำเนิน พร้อมสร้างที่พักเจ้าหน้าที่และระบบขนส่งมวลชนรองรับการเดินทาง
นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดหาสถานที่ทำการกระทรวงคมนาคมแห่งใหม่ วานนี้ (11 ก.ย.) ว่า ได้มอบหมายให้กองคลัง กระทรวงคมนาคมไปหารือกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด กรมธนารักษ์ ว่ามีแผนพัฒนาศูนย์ราชการแห่งที่ 2 รองรับไว้หรือไม่อย่างไร โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่าเบื้องต้นมีพื้นที่เหมาะสม 5 ทำเล ได้แก่ 1. พื้นที่คลองเตยของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 2. สถานีแม่น้ำ 3. ย่านมักกะสัน 4. กิโลเมตรที่ 11 ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ 5. บางปิ้ง โดยเป็นพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวก โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะตั้งงบประมาณปี 2557 เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ส่วนรูปแบบและงบประมาณจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับกรมธนารักษ์ว่ามีการหาสถานที่ตั้งศูนย์ราชการแห่งที่ 2 รองรับไว้หรือไม่ด้วย
“สาเหตุที่ต้องหาที่ตั้งกระทรวงคมนาคมแห่งใหม่เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบ ซึ่งตามนโยบายการจัดหาสถานที่จัดตั้งศูนย์ราชการแห่งใหม่ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มอบหมายผ่านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าหากคมนาคมจะย้ายควรดึงเอากระทรวงอื่นๆ ไปด้วยโดยเฉพาะกระทรวงที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเร่งนัดประชุมร่วมกับกรมธนารักษ์ภายในเดือนตุลาคมนี้” นายศิลปชัยกล่าว
สำหรับหลักการจัดการพื้นที่กระทรวงคมนาคมแห่งใหม่นั้น จะมีทั้งออฟฟิศและที่อยู่อาศัยโดยแยกส่วนออกจากกัน ซึ่งอาคารสำนักงานจะต้องมีพื้นที่มากพอที่จะให้หลายกระทรวงสามารถอยู่ร่วมกันได้ ส่วนที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่อาจต้องจัดในรูปแบบคอนโดมิเนียม รวมถึงต้องทำบัตรโดยสารราคาพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางของเจ้าหน้าที่ด้วย
นอกจากนี้ จะต้องศึกษาว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันกระทรวงคมนาคมต้องจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ปีละกว่า 5 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมีที่อยู่ของกระทรวงเองก็น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ รวมถึงจะต้องดูในกรณีที่นำพื้นที่ของหน่วยใดหน่วยหนึ่งของกระทรวงคมนาคมไปแลกกับพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่เหมาะสมว่ามีดำเนินการได้หรือไม่ โดยให้กองคลัง กระทรวงคมนาคมเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว