xs
xsm
sm
md
lg

เปิด "เออีซี" แบรนด์เล็กวูบ ค้าปลีกจ้องโขกเพิ่มค่าฟี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทัพเครื่องดื่ม-อาหารโกลบอลแบรนด์จ่อบุกอาเซียน ขานรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระบุอีก 3 ปี แบรนด์เล็กอยู่ลำบากสูญหายจากตลาด รับพิษการแข่งขันเดือด ตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ปลุกไม่ขึ้นในอาเซียน ปรับทัศนคติการดื่มสุขภาพนำความอร่อยยาก “กลุ่มชา กาแฟ น้ำผลไม้” บูม

นายวิวัฒน์ ลิ้มศักดากุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด และผู้เชี่ยวชาญตลาดเครื่องดื่ม กล่าวถึงการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าว่า ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเครื่องดื่มแบรนด์เล็กจะค่อยๆ หายไปจากตลาด และจะเหลือเพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่สามารถอยู่ในตลาดได้ เนื่องจากตลาดจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น สินค้าระดับโกลบอลแบรนด์ อเช่น โค้ก เป๊ปซี่ หรือกระทั่งเนสท์เล่ จะเข้ามาทำตลาดอาเซียนในเชิงรุกมากขึ้น ภายใต้การปรับกลยุทธ์การตลาด ใช้ National Brand เพียงแต่นำสินค้ามาพัฒนาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการกินของผู้บริโภคอาเซียน

“สาเหตุที่เครื่องดื่มแบรนด์เล็กๆ จะอยู่ในตลาดลำบาก ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ มีโอกาสที่จะปรับค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าจากอาเซียนของแต่ละค่ายต่างหลั่งไหลเข้ามาทำตลาด และต้องการวางสินค้าจำหน่ายบนชั้นวางกับผู้ประกอบการค้าปลีกซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เป็นการเพิ่มอำนาจให้กลุ่มค้าปลีกมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลแม้ว่าในช่วงนี้จะมีเครื่องดื่มใหม่เปิดตัวลงสู่ตลาด อาทิ ไวตามิกซ์ ของเถ้าแก่น้อย หรือกระทั่งของทีซี ยูเนี่ยน เปิดตัวเครื่องดื่มวีและไวตาทูแซด ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเรียลฟังก์ชันนัล หรือดื่มเป็นช็อต แต่มองว่าพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ของคนอาเซียนยังไม่ก้าวกระโดดไปมากกว่าเครื่องดื่มพื้นฐาน อย่างชา กาแฟ และน้ำผลไม้ นอกจากนี้ทัศนคติการดื่มเครื่องดื่มจะเป็นการดื่มเพื่อความอร่อยมากกว่าจะเป็นการดื่มเพื่อสุขภาพ แตกต่างจากพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นอย่างชัดเจน จึงเชื่อว่าตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์แม้ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ไม่ได้ทำให้ตลาดมีความหวือหวา หรือมูลค่าขยับเป็น 1 หมื่นล้านบาท

“ตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ในไทยคงไม่ได้เติบโตไปมากกว่านี้มากนัก เพราะจากพฤติกรรมการดื่มของคน รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับตลาดในยุโรป คือมีแคทิกอรีเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลไม่ถึง 5% และก็ไม่ได้เกิดหรือว่าหวือหวามากเท่ากับตลาดเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่น และยิ่งเฉพาะในไทยแล้ว คนไทยติดรสชาติที่ต้องอร่อยนำสุขภาพ”

***ขนมขบเคี้ยวแบรนด์เล็กเดี้ยง
นายสมนึก เปล่งสุริยการ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูอาร์ซี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ Jack 'n Jill เปิดเผยว่า การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าจะทำให้ตลาดขนมขบเคี้ยว 2.2 หมื่นล้านบาทแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศจะทุ่มงบการตลาดสูง ซึ่งคาดว่าในอนาคตขนมขบเคี้ยวท้องถิ่น หรือระดับล่างราคา 5 บาทต่อซองจะทยอยหายออกไปจากตลาด ซึ่งปัจจุบันขนมขบเคี้ยวระดับล่างมีสัดส่วน 20% และระดับกลาง ราคา 5-20 บาทขึ้นไป สัดส่วน 60-70% และระดับบน ราคา 40-50 บาทขึ้นไป สัดส่วน 10%

“สินค้าระดับล่าง หรือสินค้าที่ขายตามท้องถิ่นต่างๆ เน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ และไม่มีมาตรฐานรองรับจากทาง อย.จะหายไปจากตลาด ขณะที่ขนมขบเคี้ยวระดับกลางจะกลายเป็นตลาดที่ขยายตัวและเติบโตแทนที่ตลาดระดับล่าง”
กำลังโหลดความคิดเห็น