xs
xsm
sm
md
lg

“ณรงค์ชัย” ฉะค่าแรง 300 เงินเดือนหมื่นห้า ทำของแพง พณ.แก้ปัญหาแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต รมว.พาณิชย์อัดค่าแรง 300 เงินเดือนปริญญาตรีหมื่นห้า พร้อมตำหนิ พณ. คุมราคาสินค้าได้แย่ แถมยังสร้างปัญหาเพิ่ม สร้างความเดือดร้อนคนหาเช้ากินค่ำและเกษตรกร 10 ล้านราย

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าปีนี้ ซึ่งจะแพงขึ้นจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และการเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท โดยมองว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนที่ทำอาชีพอิสระ 10 ล้านคนที่ค้าขายหาบเร่แผงลอย และไม่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงหรือการเพิ่มเงินเดือน และยังจะถูกรัฐบาลควบคุมการขายสินค้าอาหารจานด่วนที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการอาชีพอิสระ

ปัจจุบันแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 55 ล้านคน ทำงานจริงประมาณ 40 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 15 ล้านคน ที่เหลือ 25 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบอาชีพอิสระ ในจำนวนนี้ 15 ล้านคนอยู่ในภาคการเกษตร 5 ล้านคน และค้าขาย 10 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายอะไรของรัฐบาลเลย ทั้งขึ้นค่าแรง เงินเดือน ระบบสวัสดิการต่างๆ ประกันสังคมก็ไม่ได้รับ

“นโยบายการคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์เป็นที่สุดของนโยบายยอดแย่ เพราะนอกจากไม่แก้ปัญหายังเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม ทั้งเรื่องการลดปริมาณและคุณภาพ จนทำให้สินค้าขาดแคลน”

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะขายข้าวแกง หรือค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่ม เพราะต้องคิดต้นทุนในส่วนของค่าแรงตัวเองที่ต้องการได้เพิ่มขึ้นตามนโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล และยังมีต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต้องแพงขึ้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรไปควบคุมราคาสินค้าจากผู้ประกอบการอาชีพอิสระอีกต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ควรแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง โดยการลดการผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ และการผูกขาดของมาเฟียตามตลาดสดขายส่งที่มีอยู่จำนวนมาก ที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ราคาสินค้าแพง แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในเรื่องนี้น้อยมาก เพราะไม่ต้องการไปกระทบผลประโยชน์ของนายทุน

นายณรงค์ชัยยังกล่าวในฐานะกรรมการ กนง. โดยมองว่า การที่ราคาสินค้าแพงขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 3% กว่าๆ เป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ควรต่ำกว่า 5.5% เพราะเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ หากมีแนวโน้มเศรษฐกิจโตน้อยกว่าระดับดังกล่าว ทาง กนง.พร้อมจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขณะนี้อยู่ระดับ 3% ลดลงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัญหาจากการลงทุนของภาครัฐที่ดำเนินการได้ล่าช้า นอกจากนี้การขยายตัวการส่งออกยังทำไม่เต็มที่ เพราะภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการต่อรองเรื่องค่าจ้างกับนายจ้างไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ภาพรวมการผลิตมีปัญหาผลิตสินค้าไม่ทันความต้องการของผู้บริโภคที่ยังมีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น