xs
xsm
sm
md
lg

กรมแรงงานเปิดสอบขึ้นทะเบียนหวังยกมาตรฐานอาชีพรับอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ประเทศในอาเซียนด้วยกัน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 6 ดังนั้น จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ส่วนการออกไปลงทุนก่อสร้างในต่างประเทศมีอยู่แล้ว ได้แก่ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ตะวันออกกลาง และแอฟริกา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยยังได้รับการยอมรับจากต่างชาติมาก โดยแต่ละวันต่างชาติเข้ามาติดต่อขอให้เข้ารับงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคเรื่องมาตรฐานของงานก่อสร้าง ส่งผลให้บางครั้ง ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในงานก่อสร้างบางงาน ส่วนนี้จะต้องได้รับการแก้ไขต่อไป และยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงจนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มมีผลบังคับในปี 2558 จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่เนื่องจากแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างในแต่ละประเทศ มีขีดความสามารถไม่เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบ และจัดทำ “มาตรฐานช่างฝีมือก่อสร้างอาเซียน” ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกอบรมและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิต และมูลค่าเพิ่ม (PRODUCTIVITY และ VALUE CREATION) ของแรงงานและช่างฝีมือก่อสร้างในประเทศสมาชิก

นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยได้จัดทำมาตรฐานและการสอบขึ้นทะเบียนบุคลากรก่อสร้างในระดับอาเซียน ภายใต้กรอบมาตรฐานของสมาพันธ์สมาคมการก่อสร้างแห่งอาเซียน (ASEAN CONSTRUCTORS FEDERATION: ACF) ชาติสมาชิกประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนภายใต้อาเซียน (NON GOVERNMENTAL ORGANIZATION OF ASEAN) โดยอยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงาน มาตรฐานช่างฝีมือก่อสร้างอาเซียนครอบคลุมใน 7 สาขา ได้แก่ งานเหล็ก งานหล่อโลหะ งานก่ออิฐ งานหล่อคอนกรีต งานฉาบกระเบื้อง งานปูกระเบื้อง งานเชื่อม และงานโครงเหล็ก เพื่อป้อนแรงงานที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผู้บริโภคแก้ปัญหาผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงานได้

ทั้งนี้ มาตรฐานช่างฝีมืออาเซียนจะแบ่งช่างฝีมือในแต่ละสาขาออกเป็นหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ช่างฝึกหัด ช่างฝีมือ และหัวหน้าช่าง โดยจะครอบคลุมใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.คุณสมบัติทั่วไปของช่างฝีมือในแต่ละสาขา และแต่ละระดับ เช่น อายุ การศึกษา ประสบการณ์ สภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงจริยธรรม

2.สมรรถนะของงานช่างในสาขานั้นๆ ซึ่งเกิดจากการศึกษา การฝึกอบรม/ฝึกปฏิบัติ การฝึกงานและประสบการณ์ในสาขานั้นๆ 3.การฝึกอบรม/ฝึกปฏิบัติ ที่จะต้องได้มาตรฐานตั้งแต่วิทยากร หลักสูตรการฝึกอบรม/ฝึกปฏิบัติ เครื่องมือในการฝึกอบรม/ฝึกปฏิบัติ และสถานที่ฝึกอบรม/ฝึกปฏิบัติ 4.การสอบขึ้นทะเบียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในบางกรณีจะรวมถึงการทดลองงานด้วย

ทั้งนี้ หลังจากที่จัดทำมาตรฐานช่างฝีมือก่อสร้างอาเซียนในแต่ละสาขาและได้รับความเห็นชอบจาก ACF แล้ว สมาชิกของแต่ละประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพ และระบบมาตรฐานของประเทศนั้นๆ โดยในส่วนของประเทศไทยจะเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย

“การสอบขึ้นทะเบียนบุคลากรก่อสร้างในระดับอาเซียน จะได้รับใบประกาศจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้ช่างประกอบอาชีพสมัครงาน หรือเรียกค่าแรงจากใบประกาศดังกล่าวได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการยืนยันความรู้ ความสามารถด้านช่างต่อผู้ว่าจ้าง หรือลูกค้าได้ง่ายขึ้น และไม่เพียงแค่การทำงานภายในประเทศกับบริษัทของไทย หรือต่างชาติ ยังรวมไปถึงการออกไปหางานยังต่างประเทศ ใบประกาศดังกล่าวจะช่วยให้ช่างหางานได้ง่ายขึ้น” นายจักรพร กล่าว

ปัจจุบัน ไทยได้จัดทำมาตรฐานช่างฝีมืออาเซียนแล้ว 6 สาขา โดยผ่านการเห็นชอบจาก AEC แล้ว 2 สาขา ได้แก่ งานเหล็ก และงานหล่อโลหะ โดยจะเปิดรับให้แรงงานสอบขึ้นทะเบียนได้ในเดือนกันยายนนี้ ส่วนอีก 4 สาขาอยู่ระหว่างการยื่นให้ AEC พิจารณาเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม การจัดทำมาตรฐานดังกล่าวนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ยังรับมือต่อการไหลบ่าเข้ามาของผู้รับเหมาจากยุโรป ที่ย้ายเข้ามารับงานในอาเซียนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยต้องปรับตัวรับการแข่งขัน

นอกจากนี้ ผลพวงจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยกมาตรฐานทักษะแรงงานให้สูงตามไปด้วย โดยต้องมีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม และการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เช่น พม่า ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย สมควรต้องมีบริการจากภาครัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับนำเข้าแรงงานต่างชาติให้ถูกต้องตามกฎหมายในลักษณะ ONE STOP SERVICE

อนึ่ง “สมาพันธ์สมาคมการก่อสร้างแห่งอาเซียน” (ACF) มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาระหว่างผู้ประกอบการก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน ในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง มีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจการร่วมค้าและการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในงานก่อสร้าง ให้คำปรึกษาระหว่างผู้ประกอบการก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ สำหรับการปรับปรุงทางด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง และการจัดการ รวมถึงการยกระดับทักษะแรงงานและมาตรฐานการก่อสร้าง เพื่อความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการส่งออกของอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาเซียนไปยังประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น