“เพื่อไทย” เปิดเกมยึดบีทีเอส ชี้ กทม.ทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย “แบริ่ง และตากสิน” ไม่เปิดประมูลเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และมีการต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอสออกไปอีก 17 ปีผิดกฎหมาย “จารุพงศ์” เตรียมทำหนังสือ มท.1 ขอโอนมาให้คมนาคมดูแล โดย รฟม.คุมหน่วยเดียวเพื่อง่ายในการเชื่อมโครงข่าย และ 20 บาทตลอดสาย
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยบริษัทกรุงเทพธนาคมได้ลงนามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพ กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะเวลา 30 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555-2 พฤษภาคม 2585 และว่าจ้างเดินรถในเส้นทางปกติ (สายสุขุมวิท และสายสีลม) ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานไปอีก 13 ปี โดยไปสิ้นสุดพร้อมกับการเดินรถส่วนต่อขยายปี 2585 เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
เนื่องจากเป็นการให้สิทธิโดยไม่เปิดประมูล ถือเป็นการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 35) โดยจะทำหนังสือถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทบทวนและแจ้งไปยังกทม.ให้คืนอำนาจในการควบคุมดูแลรถไฟฟ้าแก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อโอนรถไฟฟ้าบีทีเอสให้กระทรวงคมนาคมดูแลต่อไป
ทั้งนี้ การขยายอายุสัมปทานบีทีเอสและการให้สิทธิในสายใหม่ตามสัญญาสัมปทานกำหนดว่า บีทีเอสจะต้องทำเรื่องแจ้งความประสงค์ไม่มากกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนสิ้นสุดอายุสัญญา ซึ่งขณะนี้สัมปทานยังเหลืออีก 17 ปี และต้องได้รับอนุมัติจาก รมว.มหาดไทยด้วย ซึ่งเรื่องยังไม่มีการเสนอมารวมถึงไม่เคยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย ส่วนที่ กทม.ระบุว่าได้ออกข้อบัญญัติของ กทม. 4 ข้อมารองรับแล้วก็ไม่ถูกต้องเพราะ พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ใหญ่กว่า ต้องยึดตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
นายจารุพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ที่เพิ่งออกมาชี้แจงประชาชนให้เข้าใจเพราะเพิ่งทราบเรื่องซึ่งเป็นการเอาทรัพย์สินของแผ่นดินไปให้เอกชนโดยไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแล กทม.แต่อย่างใด เพราะไม่ว่าใครทำแบบนี้ก็ไม่ได้ นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังขัดจริยธรรมด้วย อีกทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.จะครบวาระในเดือนมกราคม 2556 ไม่ควรทำสัญญาอะไรที่ผูกมัดระยะยาวถึง 30 ปีแบบนี้
สำหรับการโอนรถไฟฟ้าบีทีเอสมาอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมนั้น นายจารุพงศ์กล่าวว่า เพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหน่วยงานเดียวที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะทำให้การบริหารการเดินรถมีเอกภาพ สะดวกในการเชื่อมต่อโครงข่ายและรัฐกำหนดค่าโดยสารที่ 20 บาทตลอดสายได้ง่ายขึ้น
ซึ่งเดิมจะโอนบีทีเอสมาเมื่อสัญญาครบแล้ว แต่เมื่อเกิดกรณีนี้ก็จะให้มหาดไทยเรียกอำนาจคืนมาเร็วขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้มีมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2535 สมัย พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นเลขานุการสำนักงานจัดการจราจรทางบก (สจร.) และในปี 2551 นายอำพน กิตติอำพน เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ยืนยันแนวคิดเดิมแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน กรรมการผู้ช่วย รมว.คมนาคม กล่าวว่า กทม.จ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย นอกจากเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ซึ่งต้องเป็นโมฆะแล้ว ยังเป็นนิติอำพรางเพราะมีการขยายสัมปทานเดิมออกไปอีก 17 ปี โดยไม่ผ่านการพิจารณาของมหาดไทยและ ครม. เป็นพฤติกรรมที่เร่งรีบก่อนผู้ว่าฯ กทม.จะหมดวาระ ซึ่งหากโอนบีทีเอสมาอยู่ภายใต้คมนาคมนั้นสัมปทานจะไม่กระทบยังเป็นไปตามเดิม แต่ส่วนต่อขยายจะต้องพิจารณาการเดินรถใหม่ตามกติกาและกฎหมาย