xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ขู่เล่นงาน “คุณชาย” เอื้อสัมปทานส่วนต่อขยาย BTS ขัด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด
โฆษกรัฐบาลปูดข่าว “ผู้ว่าฯ กทม.” ลงนามสัมปทานส่วนต่อขยายบีทีเอส อาจขัดต่อ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35 รวมหัวขู่เล่นงาน เปรยต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามต่อสัมปทานสัญญาว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ในการบริหารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าจากเดิม 17 ปี เป็น 30 ปี วงเงินเกือบ 2 แสนล้านบาทว่า จากที่ได้รับข้อมูลเอกสารจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม พบว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เนื่องจากผิดกฎหมายอาญาในมาตรา 157 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยแล้วว่าเรื่องใดที่เป็นการร่วมทุนนั้นจะต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการโดยพลการได้ ซึ่งการต่อสัญญาบริหารบีทีเอสนั้นปรากฏชัดว่าต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนในปี 2535 เนื่องจากกำหนดให้เอกชนมีการร่วมลงทุนในการซื้อรถ ดังปรากฏในเอกสารชี้แจงนักลงทุนของบริษัทบีทีเอสระบุว่า บีทีเอสจะสามารถการดูแลด้านการจัดหาขบวนรถเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จากการมีสัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวในลักษณะนี้ และบีทีเอสยังจะสามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดหาขบวนรถได้

“ในสัญญา 30 ปี กทม.จะมีรายได้พอสมควร หักค่าว่าจ้างให้บีทีเอส 190,000 ล้านบาท กทม.จะเหลือ 110,000 ล้านบาท ซึ่งการเซ็นต์สัญญาในวันนี้จะทำให้ กทม.ว่าจ้างถูกกว่าอีก 17 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า กทม.เป็นนอตตราดามุสหรืออย่างไรที่จะรู้ล่วงหน้าว่าอีก 17 ปีข้างหน้าจะไม่มีบริษัทใดทำได้ถูกกว่านี้ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะทำให้มีการลาออกของผู้ว่าฯ กทม.เหมือนอดีตผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคการเมืองเดียวกัน” นายอนุสรณ์กล่าว

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยชี้และตีความไว้แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ว่ากรณีที่ รฟม.ต้องการจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถึงแม้ว่าจะเป็นการจ้างเดินรถ แต่ถ้าเอกชนมีการลงทุน เช่น ลงทุนตัวรถ และรถจ่ายคืนในรูปแบบของค่าจ้างก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรณีนี้ตามที่บีทีเอสได้แจ้งไว้นั้นขัดเจนว่าบีทีเอสต้องเป็นผู้ร่วมลงทุนในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติม โดย กทม.เป็นผู้จ่ายค่าจ้างคืนให้ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนมาตรา 6 กำหนดว่า ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการในโครงการใดๆเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการโดยละเอียดตามประเด็นหัวข้อที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดต่อกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่ง กทม.เป็นราชการส่วนท้องถิ่น ดังนั้น กระทรวงที่กำกับดูแลคือกระทรวงมหาดไทย กทม.จะต้องทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้มีการทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วย เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

การดำเนินการตามโครงการโดยไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นการเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนที่ชัดเจนมาก เพื่อไม่ให้เกิดการตรวจสอบ ขาดความโปร่งใส อำนาจที่จะกำหนดค่าตอบแทนค่าจ้างสามารถทำได้โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทบีทีเอส อาจจะต้องผูกพันกับงบฯ ของ กทม.จำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน

อย่างไรก็ตาม การต่อสัญญาล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานนั้นย่อมมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีตัวแปรหลายอย่างที่ยังไม่ทราบในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น