xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อสรุปบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว "สุพจน์"แบะท่ารฟม.เหมาะสมกว่ากทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน–คมนาคมยื้อสรุปคุมเดินรถไฟฟ้าสีเขียว ตั้งสนข.รวบรวมมติครม.ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียแต่ละแนวทางก่อนเสนอครม.ชี้ขาดมิ.ย.นี้ หลังกทม.รุกหนักขอเป็นผู้เดินรถ “สุพจน์” ชี้หลักการค่าโดยสารถูก ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด บริหารระบบตั๋วร่วมได้ ยันรฟม.เหมาะสม เหตุคุมส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ใช้รูปแบบ PPP จ้างเอกชนเดินรถทั้งหมด ยกมติครม.ปี 51 ให้มหาดไทยศึกษาโอนบีทีเอส ให้รฟม.บริหารเบ็ดเสร็จ
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายวินัย ลิ่มสกุล
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) วานนี้ (12 เม.ย.) ถึงการบริหารการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประมวลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียในแต่ละแนวทางภายใน 1 เดือนจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะประชุมเพื่อสรุปความเห็นร่วมกันก่อนเสนอครม.พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนมิ.ย.นี้
มติครม.เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2553 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและกทม. หารือเรื่องบริหารการเดินรถ มีหลักการ คือ เลือกแนวทางที่ทำให้ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุดสุด โครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถบริหารค่าโดยสารได้ถูกที่สุด
นายสุพจน์กล่าวว่า กทม.ยังยืนยันความต้องการเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วง โดยยินดีจะใช้คืนค่าก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน และจะใช้หลักการบริหารการเดินรถในรูปแบบเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ PPP (Public Private Partnership) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้บริหารการเดินรถไฟฟ้า ดังนั้น การพิจารณาว่าหน่วยงานใดเหมาะสมที่จะรับบริหารเดินรถสายสีเขียวนั้น ต้องคำนึงถึงการบริหารเดินรถโครงการต่อเนื่องในอนาคตด้วย
ปัจจุบัน รฟม.ใช้รูปแบบ PPP เปิดให้เอกชนลงทุนด้านระบบรถไฟฟ้าและทรัพย์สินเป็นของรัฐ โดยรัฐจ่ายคืนค่าลงทุนและจ้างเอกชนบริหารการเดินรถ แทนการให้สัมปทาน ทั้งสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และส่วนต่อขยาย สีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ 19.8 กิโลเมตร สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค และรฟม.ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาแนวทางการศึกษาเพื่อซื้อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน จากบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล เพื่อเปลี่ยนเป็นการจ้างเดินรถในรูปแบบPPP ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีมติครม.เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2551 เห็นชอบให้รฟม.ดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการโอนรถไฟฟ้าบีทีเอสจากกทม.มาให้รฟม.ดูแลได้หรือไม่ และให้กระทรวงการคลังพิจารณาแก้ไขปัญหารับภาระหนี้ของบีทีเอสในการเข้ามาร่วมลงทุน และให้จ้างบีทีเอสเดินรถ
“การที่รฟม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าทั้งหมด จะทำให้สามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการดูแลควบคุมค่าโดยสารได้ และบริหารระบบตั๋วร่วมจะไม่มีปัญหาเรื่องค่าแรกเข้าแต่ละระบบ ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด ”นายสุพจน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ล่าช้า หลังจากทั้ง2 ฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว ระหว่างเสนอครม.ให้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับทราบไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากขณะนี้รฟม.ได้เปิดประมูลก่อสร้างสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสนข. กล่าวว่า คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการรวบรวมมติครม.ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2547 และวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียแต่ละทางเลือก พร้อมกันนี้ จะนำข้อมูลในส่วนที่กทม.ระบุว่าได้ทำหนังสือถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขอเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าสีเขียวมาประกอบการพิจารณาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น