xs
xsm
sm
md
lg

เหลือเวลาแค่ 1 ปี หวั่นไทยถูกขั้นบัญชีดำฟอกเงิน เอกชนเซ็งรัฐไม่คืบหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนเซ็งรัฐไม่คืบหน้าการแก้ไขไทยถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังสูงสุดการสกัดการฟอกเงิน ทั้งที่เหลือเวลาพิสูจน์ให้เห็นเพียง 1 ปี ไม่เช่นนั้นจะถูกขึ้นบัญชีดำทันที จี้ รัฐบาลเร่งแก้ กม.ที่เกี่ยวข้องด่วน และต้องดูแลไม่ให้ กม.ดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือรังแกฝ่ายตรงข้าม

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการเสวนา เรื่อง “FATF ขึ้นบัญชีดำประเทศไทย...ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการโอนเงินระหว่างประเทศของไทย” วานนี้ (28 มี.ค.) ว่า จากกรณีที่ FATF (The Financial Action Task Force) ได้กำหนดให้ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เฝ้าระวังสูงสุดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงินในการป้องกันกระบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งชี้แจงแผนการดำเนินงานต่างๆ เพราะเหลือเวลาเพียง 1 ปี ไม่เช่นนั้น ไทยอาจถูกขึ้นบัญชีดำ (Black List) ซึ่งจะกระทบต่อวงกว้าง

“เราจะต้องเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน และ พ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย เพื่อไม่ให้ถูกปรับลดเป็น Black List ซึ่งจะกระทบต่อไทยในวงกว้างทั้งธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคการส่งออก ทำให้ไทยขาดความน่าเชื่อถือ และสูญเสียการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาค”นายธนิต กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะทำความเข้าใจกับรัฐสภาและผู้ทีเกี่ยวข้องถึงความจำเป็นในกระบวนการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเอกชนต้องการให้มีการทำงานแบบบูรณาเป็นวาระแห่งชาติ ดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา และรับทราบข้อมูลในวงกว้าง เพราะไม่ต้องการให้กฎหมายดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเกมการเมือง

ขณะเดียวกัน ต้องการให้กฎหมายดังกล่าวมีความเป็นธรรมต้องไม่ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายไปกลั่นแกล้งธุรกิจ หรือบุคคลที่สุจริต

นายธนิตกล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการขึ้นบัญชีไทยที่จัดอยู่ในการเฝ้าระวังสูงสุด (DARK Grey List) นั้น ทำให้การทำธุรกิจทางการเงินระหว่างประเทศอาจเกิดการล่าช้า มีขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารมากขึ้น ผลกระทบต่อสถาบันการเงินของไทยจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของเงินเข้า ออก และจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากลูกค้าธนาคาร เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีการชี้แจงภาคธุรกิจ และตลาดทุนให้รับทราบถึงผลกระทบดังกล่าว และขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรการของ FATF
กำลังโหลดความคิดเห็น