ภาคเอกชน แจงผลกระทบหลัง "แบล็คลิสต์" ทำให้ประเทศไทยเสียภาพพจน์ ทั้งภาคการค้า-การลงทุน "หอการค้า" ยอมรับ นักลงทุน-ประเทศคู่ค้า ให้น้ำหนักในการพิจารณา เพราะกลัวจะถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้อง ฟอกเงิน-ก่อการร้าย และมีความยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงิน "ส.อ.ท." แนะรัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน เพื่อเรียกความเชื่อมั่น และดึงภาพลักษณ์ประเทศ ออกจากบัญชีกลุ่มประเทศมาเฟีย
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ขึ้นบัญชีดำประเทศไทย โดยยอมรับว่า ทาง 5 องค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมตลาดทุนไทย ได้ทำหนังสือเสนอต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้แล้วว่าต้องการให้เร่งชี้แจง รวมทั้งแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน แต่ก็ไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการประกาศขึ้นบัญชีดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเสียภาพพจน์กระทบต่อการค้า การลงทุน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ คงยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลจะต้องเร่งหามาตรการชี้แจงทำความเข้าใจกับองค์กรเหล่านี้
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันและดูแล และให้ชาวโลกรับรู้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายดูแลปัญหาการฟอกเงิน พร้อมทั้งมีมาตรการดูแลคุ้มครองด้านการก่อการร้าย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและให้องค์กรดังกล่าวปลดประเทศไทยออกจากบัญชีดำโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นชื่อเสียงและภาพพจน์ของประเทศไทยจะเสียหาย
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลให้ประเทศไทยมีปัญหาในการทำธุรกรรมทางการเงินในการค้ากับสังคมโลกได้ ส่งผลให้ธุรกิจของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น มีความยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงิน จนในที่สุดอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยอ้างถึงความไม่โปร่งใสและความมีจริยธรรมในที่สุด
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระยาว เพราะนักลงทุนจะพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะจะมีความยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงิน
ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการเร่งออกกฎหมายที่ตามมาตรฐานของ FATF เพื่อให้ FATF ได้พิจารณาปลดรายชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีดำต่อไป เนื่องจาก FATF จัดการประชุมเป็นประจำทุก 6 เดือน