“กิตติรัตน์” ยอมรับ กังวลไทยโดน “FATF” ยัดบัญชีดำ “ฟอกเงิน-หนุนก่อการร้าย” ส่วนกรณี 14 ประเทศเตือนนักท่องเที่ยวห้ามเข้าไทย ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกประเทศมีโอกาสถูกก่อการร้ายได้ทั้งนั้น เพราะผู้ก่อการร้ายจะไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา และไม่มีเหตุผล และไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะปลอดภัยจากการก่อการร้าย พร้อมระบุ การโรดโชว์ที่ฮ่องกง นักลงทุนกังวลการเมืองมากกว่า ขณะที่ ปปง.ยอมรับ การถูกขึ้นบัญชีดำกระทบธุรกรรมการเงินในต่างประเทศ “ยุทธศักดิ์” ลั่นไทยไม่ใช่แหล่งฟอกเงิน แค่เป็นทางผ่านเท่านั้น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกรณี 14 ประเทศ ประกาศเตือนประชาชนของตัวเองให้ระมัดระวังการเดินทางมาในไทย หลังเกิดเหตุก่อการร้าย ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกประเทศในโลกสามารถถูกก่อการร้ายได้ทั้งนั้น เนื่องจากการก่อการร้ายไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา และไม่มีเหตุผล และไม่มีประเทศไหนในโลกสักทีปลอดภัยจากการก่อการร้าย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัย เรื่องการตรวจคนเข้าเมือง และสารที่จะนำมาใช้ผลิตระเบิด
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การก่อร้การ่ายที่เกิดขึ้นในไทย ยังไม่กระทบเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว เพราะยังมีนักท่องเที่ยวเดิืนทางเข้่ามาทางสนามบินสุวรรณภูมิจำนวนมาก และการจองห้องพักก็ยังไม่ได้ลดลง
นอกจากนี้ จากการเดินทางไปโรดโชว์ที่ฮ่องกง นักลงทุนไม่ได้สักถามเรื่องการก่อการร้าย แต่ถามเรื่องปัญหาการเมือง การป้องกันน้ำท่วมไม่ให้เกิดซ้ำ และการดูแลการขยายตัวเศรษฐกิจภายในภาพรวมมากกว่า
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะมีตาามาจากคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ขึ้นบัญชีดำไทย, ปากีสถาน, อินโดนีเซีย, กานา และแทนซาเนีย ในรายชื่อในฐานะประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน โดยพบว่า ประเทศทั้ง 5 ไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการปราบปรามการฟอกเงิน และการให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้ายนั้น
รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรับรายงานอย่างเป็นทางการจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกรณีนี้โดยตรง และเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่เดินทางไปร่วมประชุม FATF ที่ประเทศฝรั่งเศส
เบื้องต้นทราบว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการฟอกเงินให้เป็นมาตรฐานสากล โดยได้รับการแจ้งเตือนให้ปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้ ก็ต้องพิจารณาดูว่ามีข้อติดขัดอย่างไรถึงไม่สามารถดำเนินการได้ และหาทางแก้ไขข้ดติดขัดนั้นเพื่อทำให้กฎหมายมีมาตรฐานสากล
ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับคณะผู้แทนจากกลุ่มความร่วมมือต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (The Asia Pacific Group on Money Laundering - APG) และผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( International Monetary Fund - IMF) โดยระบุว่า ระหว่างวันที่ 13-20 ก.พ.นี้ ตนจะเดินทางร่วมประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering - FATF) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีแนวโน้มว่าไทยจะถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศเฝ้าระวังจากการฟอกเงิน
โดยผลดังกล่าวสืบเนื่องจากการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 20 ประเทศ (G-20) ณ กรุงวอชิงตัน กรุงลอนดอน และนครพิตส์เบิร์ก เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งที่ประชุมได้ออก ข้อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เพิ่มมาตรการบรรษัทภิบาลของภาคการเงิน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism - AML/CFT) โดยได้มีการมอบหมายให้คณะทำงานเฉพาะกิจฯ และ International Cooperation Review Group - ICRG ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้าย
ผลการประเมินในปี 2552 ระบุว่า ประเทศไทยมีข้อบกพร่องด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องตามผลการประเมิน ต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ประธาน FATF ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สรุปว่า ประเทศไทยยังคงมีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) บางประการ และขอให้ประเทศไทยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่อง 3 เรื่อง คือ เรื่องแก้ไขกฎหมายกำหนดให้การสนับสนุนทางเงินแก่การการก่อการร้ายเป็นความผิดอาญาอย่างครบถ้วน
เรื่องดำเนินมาตรการในการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของผู้ก่อการร้าย และเรื่องการปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงินและธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ให้มีประสิทธิภาพ
“เราได้ดำเนินการร่างยกร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายมาตลอด แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมและความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้การผลักดันกฎหมายดังกล่าวทำได้เพียงการยกร่างเท่านั้น”
พ.ต.อ.สีหนาท ยังกล่าวถึงผลกระทบหากประเทศไทยจะถูกปรับลดไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องถูกเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน ว่า จะส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะ ต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ตนคงไปชี้แจงข้อจำกัดให้ FATF รับทราบ ซึ่งได้แต่หวังว่าเขาจะเข้าใจ เพราะหากเราถูกขึ้นบัญชีดำก็จะมีผลต่อการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายมากต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุน
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยถูกกดดันให้มีกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ เนื่องจากประเทศไทย เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงผูกพันตามข้อ 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ที่จะต้องปฏิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ และ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะออกมาตรการและดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด
แนวทางการแก้ไขที่จะสามารถพ้นจากการถูกปรับลดไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ การเร่งผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ระบุกรณีไทยถูกขึ้นแบล็กลิสต์เรื่องการฟอกเงิน โดยยืนยันว่า ไทยไม่ใช่แหล่งฟอกเงิน แต่เป็นเพียงทางผ่านของขบวนการเท่านั้น