xs
xsm
sm
md
lg

สศช.จี้รัฐแก้ ก.ม.ฟอกเงิน ปลดแบล็กลิสต์ ปปง.คาดผลกระทบเริ่มเห็นในสัปดาห์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศช.จี้รัฐแก้ ก.ม.ฟอกเงิน เพื่อให้ไทยหลุดแบล็กลิสต์ ด้านเลขาฯ ปปง.แถลง FATF ไม่ได้ระบุเป็นกลุ่มแบล็กลิสต์ แต่ไทยถูกประกาศเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมการเงินระหว่าง ปท.เผยผลกระทบจะเกิดกับตลาดเงินและตลาดทุน คาด สัปดาห์นี้เริ่มเห็นผล ประสานสถาบันการเงินรวบรวมปัญหาที่ได้รับ เพื่อเสนอ ครม.หาแนวทางช่วยเหลือ เล็งเจรจากับ FATF อีกครั้ง มิ.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน(Financial Action Task Force:FATF) ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานสากลในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ได้ขึ้นบัญชีดำประเทศไทย ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน โดยมองว่า ปัจจัยเรื่องของความเชื่อมั่นนั้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากข้อมูลทางเศรษฐกิจและไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานที่มีการจัดเรตติ้ง จะพิจารณาน้ำหนักการจัดเรตติ้งส่วนไหนมากกว่ากัน

สำหรับกรณีของประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำ เกี่ยวกับการฟอกเงินนั้น เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลในการแก้ไขกฎหมายของไทย ว่า มีความโปร่งใสและเร่งรัดดำเนินการมากน้อยเพียงใด จึงไม่สามารถบอกได้จะมีผลต่อความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะต้องดำเนินการแก้กฎหมายให้ให้เป็นไปตามกฎกติกา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบมากขึ้น

สำหรับความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวนั้น เชื่อว่า หากไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น การท่องเที่ยวของไทยจะยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งเหตุระเบิด 3 จุดที่ขึ้นย่านสุขุมวิท นั้น ประเทศไทยจะต้องพยายามชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนด้านข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเป็นปกติได้

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงข่าวกรณี FATF กำหนดรายชื่อให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศ ได้แก่ คิวบา โบลิเวีย เอธิโอเปีย กานา อินโดนีเซีย เคนยา พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน เซาตูเม และ ปริซิปี ศรีลังกา ซีเรีย แทนซาเนีย ประเทศไทย และ ตุรกี มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ทำให้มีขั้นตอนและการถูกตรวจสอบทางเอกสารมากขึ้น ส่งผลถึงระยะเวลาในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น และในภาพรวมจะเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

โดยสัปดาห์นี้ หลังถูกประกาศ จาก FATF คาดว่า จะเริ่มมีผลกระทบ ซึ่ง ปปง.ได้ประสานให้ภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน รวบรวมปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งมายัง ปปง.ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อ ปปง.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีช่วยแก้ปัญหา

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า ในหนังสือของ FATF ไม่ได้ระบุว่า เป็นการขึ้นแบล็กลิสต์ แต่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกประกาศว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมการเงินด้วย เป็นมาตรการตอบโต้ทางการเงิน ซึ่ง FATF ได้เรียกร้องให้สมาชิก 44 ประเทศ ยกระดับการเฝ้าระวังการทำธุรกรรมด้วย แม้ไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก แต่ต้องสนใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถูกประกาศเช่นกัน และขณะนี้ได้แก้ไขมาตรฐาน จนหลุดจากการถูกเฝ้าระวังแล้ว

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มต้องเฝ้าระวังธุรกรรมมาจากไทย ยังไม่มีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ยังขาดหลักการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ขณะนี้ร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอยู่ระหว่างการรับรองพระราชบัญญัติจากนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา และขาดกฎหมายการสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งขณะนี้ผ่านมติคณะกรรมการ ปปง.แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ก่อนหน้านี้ ติดขัดเรื่องไม่มีคณะกรรมการ ปปง.และคณะกรรมการธุรกรรมด้วย หากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีผลคืบหน้า ก็เชื่อว่า ปปง.จะใช้เป็นข้อเจรจากับ FATF เพื่อทำให้ไทยหลุดจากการถูกเฝ้าระวังทางธุรกรรมได้ ในหลักเกณฑ์ของมาตรฐานสากล ในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย มีมากกว่า 400 ข้อ นอกจาก ปปง.ต้องทำแล้วยังมีบางส่วนเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินต้องให้ความร่วมมือ

สำหรับแนวทางแก้ไขเร่งด่วน ขณะนี้ คือ ปปง.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เบื้องต้นหากสามารถประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในข้อเจรจาที่จะได้พูดคุยกับ FATF ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ อาจมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยกฎกระทรวงดังกล่าว จะมีผลในการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือผู้ก่อการร้ายใช้สถาบันการเงินเป็นแหล่งฟอกเงินได้

รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.ยืนยันว่า การถูกประกาศเฝ้าระวังธุรกรรมครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในไทย หรือการจับกุมชาวต่างชาติ หรือเรื่องก่อการร้าย ซึ่งไทยยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการทำธุรกรรมด้วยอย่างอิหร่าน และเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ถูกจัดกลุ่มเช่นนั้น

ทั้งนี้ พ.ต.อ.สีหนาท ได้อธิบายถึงผลกระทบของการถูก FATF ประกาศเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ว่า ผลกระทบต่อกลุ่มตลาดเงิน ธนาคารไทยจะเป็นคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดในมุมมองของธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างชาติ หากมีธุรกรรมของไทย ถูกส่งไปยังสถาบันการเงินต่างชาติ อาจถูกตีกลับเมื่อมีข้อมูลไม่ครบถ้วน รวมถึงการอนุมัติการลงทุนขนาดใหญ่ของลูกค้าธนาคารไทยอาจได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธนาคารคู่ค้าที่ก่อตั้งในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้าย การขอกู้ยืมและการแลกเปลี่ยนค่าเงินอาจได้รับการจำกัดในจำนวนน้อยลง เพราะถูกมองว่าไม่มีความปลอดภัยในการร่วมค้า

นอกจากนี้ หากลูกค้าของสถาบันการเงินต่างชาติระบุว่า เป็นลูกค้าที่ทำธุรกิจกับประเทศไทย หรือมีเครือญาติสนิทกับคนที่อยู่ในไทย ลูกค้ารายนั้นจะกลายเป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้ายไปด้วย จึงอาจเกิดการหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับไทย ส่วนผลกระทบต่อกลุ่มตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นคู่ค้ากับสถาบันการเงินต่างชาติจะถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือในลักษณะเดียวกับธนาคาร เมื่อลูกค้าคนไทยไปลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติ จะได้รับการประเมินว่า มีความเสี่ยงสูงสุด และอาจถูกจำกัดในการลงทุนปริมาณสูงหรือไม่ให้ใช้บริการบางประเภท และลูกค้าต่างชาติอาจหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ของไทย เพราะเกิดความไม่มั่นใจ

สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้มีตัวแทนจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ขอเข้ามาฟังด้วย เพื่อติดตามความคืบหน้าของผลกระทบที่ธนาคารอาจได้รับ ซึ่งขณะนี้ผู้แทนสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบ แต่ยังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างการรวบรวมปัญหาที่เกิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น