xs
xsm
sm
md
lg

“สีหนาท” ชี้ไทยแค่กลุ่มเสี่ยงแหล่งฟอกเงิน หนุนปรับปรุง กม.ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์
ว่าที่เลขา ปปง.ปฏิเสธไทยติดแบล็กลิสต์แหล่งฟอกเงิน และสนับสนุนการก่อการร้าย ตามประกาศของเอฟเอทีเอฟ ยันแค่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเฝ้าระวัง 3 ข้อ แต่ยอมรับขาดหลักการตามมาตรฐานสากล หนุนปรับปรุง กม.ใหม่ทั้งฉบับ

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ ปปง.พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แถลงถึงกรณีเอฟเอทีเอฟกำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังทางการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย ว่า จากการที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ เอฟเอทีเอฟ ซึ่งเป็นองค์ที่กำหนดมาตรฐานสากลในการป้องกันปราบปราบการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งกำหนดให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศ อาทิ คิวบา โบลิเวีย เอธิโอเปีย กานา อินโดนีเชีย เคนยา พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน เซาตุเม และ ปรินซิปี ศรีลังกา ซีเลีย แทนซาเนีย ตุรกีละไทย ว่าเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

โดยเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในความเสี่ยงดังกล่าวมี 3 ประเด็น คือ 1.ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการเงินที่ขาดหลักการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินใหม่ทั้งฉบับ ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอยู่ระหว่าการรับรองพระราชบัญญัติจากนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอรัฐสภาให้พิจารณาร่างต่อไป 2.การขาดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดมูลฐานหรือผู้ก่อการร้ายใช้สถาบันการเงินของไทยเป็นแหล่งในการฟอกเงิน หรือใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยงกับลูกค้าของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3.การขาดมาตรการการกำหนดโทษการลงโทษในการดำเนินคดี ต่อผู้สนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการ ปปง.เนื่องจากร่างดังกล่าวมีหลักการที่ค่อนข้างจะกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงต้องพิจารณาอย่างรอบ

สำหรับผลกระทบจากการถูกกำหนดรายชื่อให้เป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศจะต้องมีขั้นตอน และมีการตรวจสอบเอกสารมากขึ้นซึ่งส่งผลถึงระยะเวลาในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นในภาพรวมจะเป็นการลดความสามารถในการแข่งขั้นของประเทศและอาจรวมถึงความอยากลำบากของคนไทยในการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ

ส่วนแนวทางการแก้ไข คือ 1.เร่งดำเนินการเพื่อให้สารถประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ หากสามารถประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวได้แล้วจะมีผลทำให้สถาบันการเงินสามารถนำมาตรการตามกฎกระทรวงดังกล่าวมาใช้ในการป้องกัน มิให้ผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือผู้ก่อการร้ายใช้สถาบันการเงินเป็นแหล่งในการฟอกเงินหรือใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนเงินทางการเงินแก่การก่อการร้ายได้อย่างมีปะสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.เร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถตรากฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่มีหลักการสอดคล้องกับมาตรฐานสากล แต่ทั้งนี้ เนื่องจากขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายนั้นมีขั้นตอนการตรวจพิจารณาหลายขั้นตอนเพื่อความรอบคอบ คณะกรรมการ ปปง.จึงส่งเรื่องให้คระอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาต่อไป 3.ปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังของสำนักงาน ปปง.ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 4.ประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความชัดเจนในนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายต้อไป

ทั้งนี้ ผลกระทบในเบื้องต้นอาจะต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมทางการเงินมากยิ่งขึ้น และมีผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน ต้องใช้เวลาในการพิจารณารวบรวมหลักฐานให้มากขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบอื่นๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน จึงจะทราบว่า มีผลกระทบว่ามีมากน้อยแค่ไหน และอาจจะเรียกเอกชนที่ได้รับผลกระทบมาเจรจา เพราะส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคเอกชน

เมื่อถามว่า เราจะมีการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ เราพยายามเร่งรัดให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการให้กับเอฟเอทีเอฟ เพื่อให้เขาทราบว่าไทยมีการออกกฎกระทรวงแล้ว ซึ่งคาดว่าในเดือนมิถุนายนจะมีการประชุมคณะกรรมการของเอฟเอทีเอฟ เราอาจจะมีอำนาจในการต่อรองได้ ว่า เรามีความคืบหน้า เพราฉะนั้นในขั้นตอนต่างๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่ในตอนนี้ ตนเชื่อว่า หากเราได้ร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผลักดันในสิ่งต่างๆ ที่ยังเป็นข้อบพพร่องอยู่ในเชิงยุทธศาสตร์ ในเรื่องดังกล่าวให้ผ่านไปได้ ก็น่าจะทำให้การประชุมเอฟเอทีเอฟ ถอนเราปลดล็อกไทยออกจากแบล็กลิสต์

เมื่อถามว่า ในส่วนของกฎกระทรวง พอจะทำได้หรือไม่ พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า กฎกระทรวงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเรื่องนี้เสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนแล้ว จากการไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้รับทราบว่า น่าจะเสร็จภายในเดือนนี้ แล้วก็นำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ได้ต่อไป อันนี้ก็เป็นความคืบหน้าที่น่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อถามว่า ในส่วนของกฎหมายที่มีการเริ่มมาตั้งนานแล้ว ติดปัญหาอะไร ทำไมไม่สามารถผลักดันออกมาได้ พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า ในกฎหมายทั้งสองฉบับนั้น เนื่องจากว่ากฎหมายฟอกเงินก็มีการแก้ไขมา 3 ครั้ง ล่าสุด เราก็ได้ดำเนินการยกร่างเสร็จแล้ว รวมทั้ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราปราบการฟอกเงิน จริงๆ แล้วไม่ได้มีความล่าช้าอะไร แต่จะมีช่วงหนึ่งที่มีการผ่านเราจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กฎหมายไม่ใช่นึกอยากจะออกแล้วออกเลย มันจะต้องมีการทำประชาพิจารณืพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความเห็นต่างๆ กว่าจะมาถึง ปปง.เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม ได้พิจารณาเร่งรัด และก็เห็นชอบให้ผ่านร่างในหลักการของทั้งสองฉบับไปแล้ว นี้ก็เป็นความรวดเร็วของรัฐบาลที่จะปฏิบัติตามมาตฐานสากล

เมื่อถามว่า หลังจากนี้ มองว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ เอฟเอทีเอฟจะปลดล็อกต้องใช้เวลาในการปลดล็อกไทยให้พ้นจากแบล็กลิสต์นานหรือไม่ พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า ไม่นาน ถ้าเรามีความคืบหน้าเต็มที่ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าตรงไหน แต่ว่าหลักสำคัญต้องผ่านกฎหมาย 2 ฉบับ และตนอยากจะชี้แจงว่า ประเทศไทยเรามีกฎหมาย เรามีรัฐธรรมนูญของเรา เราต้องใช้ระยะเวลา มีความรอบคอบในการพิจารร่างกฎหมายพอสมควร เพราะกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น เราจำเป็นต้องรอบคอบ ตนจึงคิดว่า ประเด็นนี้เราน่าจะทำความเข้าใจกับเอฟเอทีเอฟได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าอย่างน้อยเราต้องมีความคืบหน้าในระดับที่ดีพอสมควร เพื่อที่จะรายงานให้เขาทราบและให้เขาปลดล็อกเราออกไปได้

เมื่อถามว่า แล้วภาคเอกชนจะช่วยเหลือเขาอย่างไร พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า ขณะนี้ก่อนที่ตนจะไปประชุมที่ปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนได้ประชุมชี้แจงครั้งหนึ่งแล้ว และได้อธิบายว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หรือไม่อาจเกิดขึ้นก็ได้เราไม่รู้ ซึ่งสัปดาห์นี้น่าจะรู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร

“เราไม่ได้เป็นสมาชิกเอฟเอทีเอฟ แต่เอฟเอทีเอฟ มีสมาชิก ทั้งหมดเกือบ 40 ซึ่งเขาก็มีการประชุมภายในกันเอง และบอกว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทางการเงิน เวลาจะทำธุรกรรมจะต้องมีการระวัง นี้เป็นมาตรการที่เขามีออกมา เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่าเราไม่ได้เป็นสมาชิก แล้วไม่ต้องทำตามเขาเลยมันก็จะเป็นข้อกังขา ว่า เขาไม่ได้บังคับให้เราทำตาม แล้วเราไม่ทำตามก็ได้ แต่ประเทศสมาชิกของเขาจะทำตามบทบาทของเขา อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ว่าเรายังต้องติดต่อกับประเทศที่อยู่กลุ่มสมาชิกเอฟเอทีเอฟเหล่านี้” พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าว

เมื่อถามว่า ตกลงประเทศไทยอยู่ในแบล็กลิสต์หรือไม่ พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า เขาไม่ได้เขียนว่าไทยอยู่ในแบล็กลิสต์ แต่เขาเขียนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง คือ เขาเขียนว่า ใน 15 ประเทศที่เขาระบุนั้น หมายความว่า ประเทศเหล่านี้ คือ ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน ซึ่งเป็นศัพท์ที่พวกเราอาจจะเรียกว่ากันไปเองว่าแบล็กลิสต์ แต่เขาไม่ได้หมายถึงไทยติดแบล็กลิสต์ ซึ่งการที่เขียนว่ามีความเสี่ยงอาจจะเป็นการตอบโต้ทางการเงิน ซึ่งตนคิดอย่างนั้น

เมื่อถามว่า เกี่ยวกับเหตุระเบิด 3 จุดที่ผ่านมาหรือไม่ พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า ไม่เชื่อมโยงกัน และไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น