ผู้บริหาร EXIM Bank ชี้ ไทยถูกขึ้นบัญชี “ต้องเฝ้าระวังสูงสุด” กระทบการค้า "เอสเอ็มอี" ด้านหอการค้าฯ ยอมรับ จะส่งผลต่อการแข่งขันของประเทศ หลังเปิด "เออีซี" เพราะเงินลงทุนจากประเทศต่างๆ จะเปลี่ยนจากไทยหนีไปสิงค์โปร์ และมาเลเซีย ซึ่งไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ เนื่องจากประเทศคู่ค้าจะขาดความเชื่อมั่น
นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) หรือ ธสน. กล่าวว่า การที่ไทยติดกลุ่มประเทศที่ถูกขึ้นบัญชี “ต้องเฝ้าระวังสูงสุด” หรือ ดากเกรย์ลิสต์ (DARK Gray List) ตามการประกาศของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน-ต่อต้านการก่อการร้าย ( Financial Action Task Force on Money Laundering หรือ FATF) โดยยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่มีต่อต้นทุนและการแข่งขันทางการค้าของไทย ซึ่งลูกค้าของธนาคาร และคู่ค้า ยังไม่มีการสอบถามหรือเอกสารข้อมูลเพิ่มเติม แต่ทาง ธสน. ก็มีการเตรียมความพร้อมหากคู่ค้าจะขอรายละเอียดของลูกค้าธนาคารเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. จะเร่งออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อให้ประเทศหลุดออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ซึ่งทาง ธสน. และสมาคมธนาคารไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลทางบัญชีถูกต้อง โปร่งใส และ มีความน่าเชื่อถือ คงไม่ได้รับผลกระทบ แต่ห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มีฐานข้อมูลน้อยกว่า อาจจะมีการตั้งข้อสงสัยจากคู่ค้าต่างชาติมากขึ้น
ส่วนการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องประมาณร้อยละ 15 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17 เป็นผลจากผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยและฐานมูลค่าการส่งออกในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ประกอบกับเศรษฐกิจตลาดคู่ค้าหลักยังเปราะบาง ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อโตร้อยละ 5 จากยอดคงค้างเงินให้สินชื่อในปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 65,449 ล้านบาท และจะทำกำไรใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 605 ล้านบาท โดยจะเน้นให้สินเชื่อรับประกันการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ธสน. อนุมัติวงเงินให้ผู้ประกอบการ 41,331 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 120.25 สูงกว่าเป้าหมายที่ 34,400 ล้านบาท
ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่า การที่ FATF ขึ้นบัญชีเฝ้าระวังเป็นพิเศษต่อประเทศไทย จะส่งผลต่อการแข่งขันของประเทศ หลังการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยเงินลงทุนจากประเทศต่างๆ จะเปลี่ยนการลงทุนจากประเทศไทยไปที่สิงค์โปร์ และมาเลเซีย ซึ่งไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ เนื่องจากประเทศคู่ค้าจะขาดความเชื่อมั่น
สำหรับการตรวจสอบด้านการเงินและการนำเงินออกนอกประเทศโดยเฉพาะในตลาดทุน นั้น จะมีความยุ่งยากมากขึ้น โดยท่าทีของรัฐบาลไทยควรจะมีความชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขให้มากกว่าที่เป็นอยู่โดยนายกรัฐมนตรีควรแสดงท่าที หรือให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม สมาชิก FATF จำนวน 36 ประเทศ มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการส่งออกไทยทั้งหมด จึงถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อรักษาการส่งออกของประเทศ
นายอัทธ์ กล่าวในงานแถลงข่าว “โอกาสและความเสี่ยงของมันสำปะหลังไทยเพื่อการแข่งขันในอาเซียนและอาเซียน +3” ว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับที่ 5 ของโลก รองจากไนจีเรีย คองโก บราซิล และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออกปีที่ผ่านมากว่า 2,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ากัมพูชา และอินโดนีเซีย หรือเฉลี่ย 3 ตันต่อไร่ และมีต้นทุนการผลิต 85 สตางค์ต่อกิโลกรัม สูงกว่ากัมพูชาที่มีต้นทุนเพียง 61 สตางค์ต่อกิโลกรัม ถ้าไทยไม่เร่งปรับตัวไทยจะแข่งขันลำบากมาก
ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการเพาะปลูก รวมถึงต้องการขยายการลงทุนออกไปภายใต้ข้อตกลงอาเซียนและอาเซียน+3 และที่สำคัญรัฐบาลควรทบทวนนโยบายการแทรกแซงมันสำปะหลัง ซึ่งไม่ควรนำมาเป็นสินค้าเกษตรประชานิยม เพราะประโยชน์ตกถึงเกษตรกรน้อยมาก มีช่องทางทุจริตเกือบทุกขั้นตอนและบิดเบือนกลไกตลาด พร้อมกันนี้ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามันสำปะหลัง และสร้างเสถียรภาพราคาผ่านนโยบายพลังงานทดแทน รวมถึงต้องลดการพึงพิงการส่งออกในตลาดจีนโดยขยายตลาดไปสู่อินเดียและยุโรปมากขึ้น