นักวิชาการค้านกองทุนน้ำมันฯ กู้เงินอุ้มดีเซลต่อระยะยาว หลังใช้เครื่องมือการคลังลดภาษีไปแล้วลิตรละ 5.80 บาท ชี้ ไม่เป็นผลดีต่อ ศก. เป็นการเอาเปรียบคนใช้น้ำมันเบนซินถึง 3 ต่อ ทำให้ค่าการตลาดเบนซินสูงผิดปรกติ เวลาน้ำมันโลกลด ราคาขายปลีกไม่สามารถปรับลดได้ แนะขยับเพดานตรึงดีเซลให้สูงขึ้นจะดีกว่า
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน และอดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะกู้เงินมาดูแลราคาพลังงาน โดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินเพดานราคา 30 บาทต่อลิตร แต่สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้น เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือทางภาษีไปแล้วด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5.80 บาทต่อลิตร มีผลจนถึง 30 กันยายน 2554 ไปแล้ว
"หากถึงเวลานั้น หนทางที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการก็คือ การนำเงินจากกองทุนฯ มาอุดหนุนแทน เพื่อไม่ให้ประชาชนช็อกจากการขึ้นราคาดีเซลทันที ก่อนจะใช้วิธีทยอยเก็บคืน เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง"
ทั้งนี้ การที่จะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปกู้เงินมาเพื่อช่วยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินเพดานราคา 30 บาทต่อลิตรนั้น จะทำให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน (ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85) กลายเป็นผู้ที่รับภาระถึง 3 ต่อคือ นอกจากไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐแล้ว ยังทำให้ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินสูงกว่าปกติ เพื่อมาชดเชยค่าการตลาดดีเซลที่ต่ำ รวมทั้งเวลาราคาน้ำมันโลกลดลงก็อาจไม่ปรับลดลง เพราะกองทุนน้ำมันต้องเร่งเก็บเงินมาใช้หนี้คืน
“ผมไม่เชื่อว่าคลังจะยอมลดภาษีดีเซลต่อเพราะเป็นรายได้หลักของรัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ทำไมกองทุนน้ำมันฯ ต้องเตรียมเงินไว้และทุกพรรคการเมืองเองก็หาเสียงกับการตรึงราคาพลังงานไว้ ซึ่งไม่มีพรรคไหนเลยที่ตอบคำถามได้ว่า เมื่อสิ้นสุด ก.ย.ในการลดภาษีฯ ดีเซลแล้ว จะเอาเงินมาจากไหนดูแลได้ต่อไปอีก แน่นอนที่สุดมีหนทางเดียวคือกู้เงินไปเรื่อยๆ ซึ่งคนใช้ดีเซลมีทางเลือกไปใช้เอ็นจีวีได้ ดังนั้น เพดาน 30 บาทต่อลิตร ก็น่าจะขยับได้เช่นกัน”
ด้านนายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า หลักการกู้เงินมาชดเชยราคาดีเซลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งบทเรียนในอดีตก็มีให้เห็นว่าไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา และการกล่าวอ้างดูแลดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเพื่อไม่ให้กระทบราคาสินค้านั้น ยังไม่ชัดเจนว่าดูแลได้จริงหรือไม่ เพราะดีเซลขณะนี้กลุ่มขนส่งก็มีทางเลือกที่จะไปใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่เป็นนโยบายรัฐ ดังนั้น ควรจะทบทวนนโยบายดังกล่าวหากจะดูแลควรจะปรับขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่