xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถกคลัง-พลังงาน วันนี้ ชี้ชะตาดีเซล 30 บ.จับตา ลอยตัว-ลดภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ เรียกประชุมด่วน "พลังงาน-คลัง" วันนี้ ตัดสินใจตรึงดีเซล 30 บาทต่อไป หรือจะปล่อยให้ลอยตัว หลังกองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินแค่ 7 พันล้าน หวั่นอุ้มได้ไม่ถึงสิ้นเดือนนี้ พร้อมเร่งหาแนวทางป้องกันไม่ให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่ม เอกชนแนะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลบ้าง เพื่อให้สะท้อนต้นทุน แต่อาจกำหนดกรอบเพดานในการดูแล ปชช. และไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐมากเกินไป ส่วนจะมีการลดภาษีหรือไม่ ต้องดูท่าทีกระทรวงการคลัง เบื้องต้น คาดลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 1.90 บาท

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 เมษายน 2554 (วันนี้) เวลา 10.00 น. นาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่งทางกระทรวงจะมีการรายงานสถานการณ์ราคาพลังงานโดยรวมให้รับทราบ

นายแพทย์วรรณรัตน์ ยอมรับว่า ราคาน้ำมันในขณะนี้ สูงเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จากเมื่อช่วงที่มีการเริ่มตรึงราคาดีเซลเมื่อเดือนธันวาคม 2553 และผลของการตรึงราคาดีเซลทำให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งวงเงินกองทุนฯ จะเหลืออุดหนุนได้โดยไม่ติดลบจนถึงวันที่ 27 เมษายน 2554 นี้ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกในรอบสัปดาห์เริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะให้นโยบายดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการตรึงดีเซลคงต้องรอฟังในวันพรุ่งนี้ โดยขณะนี้กระทรวงได้มีการประชุมด่วน เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งหมด

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา กบง. เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับดีเซลอีก 0.50 บาทต่อลิตร จากเดิมชดเชยที่ 5.90 บาทต่อลิตร เป็น 6.40 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

โดยนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายชดเชยเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปแล้วประมาณ 20,667 ล้านบาท และในขณะนี้เหลือเงินสดของกองทุนฯ อยู่ที่ 7,278 ล้านบาท

น.ส.ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการแผนกวางแผนการพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าที่ไทยออยล์เคยคาดไว้ปีที่แล้วประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่านั้น

ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะความไม่สงบในประเทศผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะเดือนเมษายน 2554 น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ส่วนตัวคาดว่าราคาคงไม่สูงกว่ากรอบปัจจุบัน เพราะทั่วโลกหวั่นว่าจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และไตรมาส 2 นี้ หากเหตุการณ์ไม่บานปลายไปกว่าปัจจุบันน้ำมันดิบคงจะทรงตัวระดับสูง

ส่วนไตรมาส 3 คาดว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง ขณะที่ไตรมาส 4 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นและเป็นภาวะน้ำมันขาขึ้นราคาน้ำมันก็จะทรงตัวระดับสูงอีก โดยเฉลี่ยปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ประมาณ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

"รัฐบาจะตัดสินใจอย่างไร คงต้องติดตามผล ในวันนี้ เพราะมองว่า เป็นราคาสูงกว่าที่เริ่มต้นตรึงดีเซลที่อยู่เพียงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่านั้น"

อย่างไรก็ตาม ไทยออยล์ มองว่าจากเงินกองทุนฯ ที่กำลังจะหมดลง และเพื่อให้สะท้อนต้นทุน รัฐบาลน่าจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลบ้าง และกำหนดกรอบเพดานในการดูแลประชาชนและไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐมากเกินไป ส่วนจะมีการลดภาษีหรือไม่ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจ

เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ซึ่งจะมีการนัดหารือด่วนในการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน และการตรึงราคาน้ำมันดีเซล พร้อมยอมรับว่า เงินของกองทุนน้ำมันฯ ลดระดับลงอยู่ได้แค่ถึงสิ้นเดือนนี้ โดยวันนี้ ตนเองจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลก และสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็กระทบอยู่ตลอด

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า จะหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางการดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินไป หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยแนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือ การกลับไปใช้อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิม ที่ระดับ 3 บาท 10 สตางค์ต่อลิตร จาก ปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร

โดยอัตราภาษีดังกล่าวเป็นอัตราเดิมที่ประเทศไทยเคยใช้มาตรการภาษีในการดูแลราคาน้ำมันในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงจึงได้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมาเป็น 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นและนำมาใช้ในการดูแลประเทศ ดังนั้นหากจะกลับไปใช้อัตราเดิมก็น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายกับประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงในอัตราดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็ถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล แต่จะสูญเสียรายได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเริ่มใช้ในเวลาใดและใช้เป็นระยะเวลายาวนานเพียงใดซึ่งก็คงจะต้องมีการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันโลกด้วย

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้มีผลการศึกษาที่เกี่ยวกับการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันว่า หากลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 1 บาทต่อลิตร จะกระทบให้รายได้รัฐบาลลดลงราว 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากรัฐบาลพิจารณาใช้แนวทางนี้ก็อาจจะต้องปรับลดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายลงด้วย เพื่อให้สมดุล และเป็นการรักษาวินัยทางทางการคลังในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น