xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” กล่อมไตรภาคีเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส.อ.ท.หนุนใช้สวัสดิการแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
นายกฯ กล่อม คกก.ไตรภาคี เร่งเคาะขึ้นค่าแรง เพื่อปลุกความเชื่อมั่น เพิ่มรายได้-กำลังซื้อ รับมือกับปัญหาของแพง ยืนยัน รบ.พร้อมลดต้นทุนให้เอกชน ควบคู่กันไป ฝ่ายลูกจ้างแนะปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ เพราะ ปชช.ใช้ของแพงเท่ากัน หนุนนโยบายขึ้นค่าแรง 25% ภายใน 2 ปี ขณะที่ ส.อ.ท.ห่วงกระทบต้นทุนผลิต แนะหนุนสวัสดิการทดแทน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างร่วมงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานไทยดีจริงหรือ ที่อาคารมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย โดยมีจากภาคเอกชนทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง นักวิชาการ อาทิ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายมนัส โกศล ประธานองค์การสภาลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ปัจจัยขึ้นอยู่กับตัวโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้ความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของประชาชน เพราะปัจจุบันการฝืนการขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันมีทำได้ยาก เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นเราก็ต้องมีการปรับรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งมีเงินออม เพื่อสู้กับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่การช่วยประชาชนที่เดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพแต่เป็นการปรับโครงสร้างอย่างอื่นให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งโดยพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นและเป็นโอกาสทำให้สังคมและเศรษฐกิจของเรามีความเป็นธรรมมากขึ้น”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องแรงงานมีความสำคัญและเกี่ยวโยงกับหลายส่วนในสังคม โดยจะต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ในการดูแลแรงงานทั้งระบบ ซึ่งตนเองเห็นว่า ตัวเลขการปรับขึ้นค่าแรงจะต้องพิจารณา 2 ส่วน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และการลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจหรือนายจ้าง ซึ่งกระทรวงการคลัง กำลังศึกษารายละเอียดในการลดต้นทุน ให้สอดคล้องกับการเพิ่มค่าแรง

“ถ้าเราเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ก็ยังค่าจ้างสูงกว่า ตอนนี้ประเทศมีแรงงานประมาณ 2 ล้านคนขึ้นไปที่รับค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลจึงพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถครองชีพได้ บวกกับมาตการอื่น มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเข้มแข็งขึ้น”

ส่วนที่ภาคอุตสาหกรรมอ้างถึงเรื่องต้นทุนที่อาจจะกระทบการสงออก นายกฯ กล่าวว่า ที่จริงแล้วขณะนี้โครงสร้างการส่งออกของประเทศไทย อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 10 จริงแล้วสินค้าที่เราส่งออกไม่ได้ใช้แรงงานของคน แต่แน่นอนเราต้องดูแลอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคน ประเด็นคือเราต้องทำสองอย่างที่ให้ค่าจ้างที่กระโดดสูงขึ้นทำให้อุตสาหกรรมอยู่ได้ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะให้ค่าจ้างสูงแต่ไม่มีใครจ้าง ดังนั้นตัวเลขที่เราเสนอก็อยู่กับความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ว่าอยากจะขึ้นเท่าไรตามใจชอบ

ดังนั้น เราต้องดู 2 อย่างที่จะทำยังไงถึงจะอยู่ได้ 1.ต้องเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพของแรงงาน มาตรการจะควบคู่กับการพยายามโยงค่าจ้างกับประสิทธิภาพแรงงานมากขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ดำเนินการในเรื่องของค่าจ้างที่โยงกับมตรฐานฝีมือแรงงานซึ่งเราตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่จะมาช่วยในเรื่องของการให้ความต้องการแรงงาน ทักษะ ประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

2.ต้องช่วยลดต้นทุนด้านอื่น อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเพียงตัวเดียว ซึ่งอุตสาหกรรมบอกว่าไม่มีประโยชน์ไม่ได้ช่วยเขา ซึ่งไม่ใช่เพราะเราจะดูให้ครบทั้งหมดว่าเมื่อค่าจ้างขึ้นต้นทุนที่เกิดจากภาครัฐที่ลดได้เร็วที่สุดเราจะลดตัวไหนอย่างไรบ้าง ยังมีเรื่องของการหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่องของค่าจ้างซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังศึกษา ซึ่งตนมั่นใจว่าแนวทางที่จะลดต้นทุนทำได้อีกหลากหลาย

ส่วนเรื่องต้นทุนการขนส่งโลจิสติกทำโดยลำดับมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้นทุนด้านโลจิสติกจะลดลงจาก 18% ให้เหลือ ต่ำกว่า 15% ปลายทางเหลือต่ำกว่า 10%

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำว่า ภายใน 2 ปีนี้ จะต้องขึ้นค่าแรงให้ได้ร้อยละ 25 ส่วนที่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ประกาศหากได้เป็นรัฐบาล จะเพิ่มค่าแรงร้อยละ 25 ทันที ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า นายมิ่งขวัญ จะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือผู้ที่แข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรง จะต้องดูจากภาวะเงินเฟ้อและสภาพเศรษฐกิจด้วย

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี ไม่ได้ทำลายระบบคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี แต่เป็นนโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจและค่าจ้างในประเทศให้ดีขึ้น โดยจะยึดโยงสองส่วนคือค่าจ้างจะยึดกับค่าครองชีพ กับโยงเรื่องของประสิทธิภาพที่ไม่ฝืนตลาด

“ฉะนั้น โครงสร้างถ้าบอกว่าขึ้นเท่ากันทั่วประเทศคิดว่าจะเป็นปัญหากับโครงสร้าง ซึ่งในใจตนอยากเห็นสิ่งแรกคือต้องขึ้นเพื่อให้เขาอยู่ได้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งข้าราชการเงินเดือนขึ้นแล้ว ร้อยละ 5 รัฐวิสาหกิจเงินเดือนต่ำกว่า 5 หมื่นบาทก็ขึ้นร้อยละ 5 ไปแล้ว”

ส่วนท้องถิ่นตนกำลังดูอยู่ ดังนั้นตนจะพยายามให้ทุกคนอยู่ได้ในปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น หลังจากนั้นตนคิดว่าการจะขึ้นแบบก้าวกระโดดต้องทำพร้อมกับการลดต้นทุน ฉะนั้น ไม่สามารถขยับได้พรวดเดียว แต่เป้าหมายสุดท้ายคือเราอยากจะเห็นค่าจ้างขั้นต่ำภายใน 2 ปี

“มีคนชอบนินทาว่าเวาจะเลือกตั้งมาพูดเรื่องนี้ โอ๊ยไม่ใช่ เราทำเรื่องนี้มาโดยตลอด พูดกันตรงๆนะครับไม่ใช่ว่าอย่างตอนนี้หาเสียงแข่งขันกันของผมอยู่บนความเป็นจริงผมก็บอกว่า 2 ปี 25% พรรคอื่นเขาอาจจะบอกว่าพรวดเดียวเลย 300 บาท”

ส่วนที่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอว่า จะขึ้น 25% ในทันทีนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่านายมิ่งขวัญยังเป็นผู้สมัครชิงนายกฯ หรือไม่ แต่สำหรับผมคือว่าถ้าขึ้นทันทีแบบก้าวกระโดด ผมไม่คิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ นอกจากจะมีคนตกงานทันที

ดังนั้น แนวทางที่ถูกต้อง คือ จะขึ้นสู้ค่าครองชีพของแพง แล้วมาเร่งดูในเรื่องของการปรับลดต้นทุนที่กระทรวงคลังมีทางเลือกแล้วฝ่ายนโยบายจะดูว่าอะไรบ้างเป็นการลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ พร้อมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพทักษะ

“ผมคงตอบไม่ได้ว่า จะขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ขอไปดูรายละเอียดตัวเลขอะไรต่างๆ ก่อน แต่ในที่สุด เบื้องต้นเราอาจขึ้นเท่ากันในรอบแรกก็ได้ หรืออาจจะไม่เท่ากันในรอบแรกแต่อาจจะชดเชยให้ในรอบที่สอง”

อย่างไรก็ตาม เราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ การว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นตามสมควร ลูกจ้างและนายจ้างไม่ได้ทะเลาะขัดแย้งกันเหมือนหลายประเทศและตัวเลขที่ตนดีใจ คือ เมื่อผ่านวิกฤตเศรษฐกิจแล้วตัวชี้วัดเรื่องการกระจายรายได้ดีขึ้น

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากันในทุกๆ จังหวัด เนื่องจากขณะนี้ราคาสินค้าที่ขายอยู่ตามท้องตลาดเท่ากันหมดในทุกจังหวัด

พร้อมกันนั้น สนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป 25% ภายใน 2 ปีของรัฐบาล โดยอยากให้เริ่มวันที่ 1 พ.ค.นี้ ปรับขึ้นค่าแรงให้กับผู้ใช้แรงงาน 12.5%

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ลูกจ้างอยู่ได้โดยการทำงานล่วงเวลา (โอที) ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าแรง ผู้ประกอบการคงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 15-20% เท่านั้น พร้อมกันนั้น มองว่า การพิจารณาค่าจ้างแรงงานต่างด้าวให้เท่ากับแรงงานไทย จะเป็นอันตรายต่อแรงงานไทยเอง เพราะเป็นการแย่งตลาดแรงงาน

ขณะที่ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานทั้งระบบ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งมีส่วนกับการปรับขึ้นราคาสินค้า ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยกลไกลสำคัญยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี หรือ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง

ส่วนเรื่องการปรับค่าจ้างตามภูมิภาค แต่ละพื้นที่มีต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน หากปรับค่าจ้างทันทีจะเกิดปัญหา เพราะค่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน ดังนั้น ควรส่งเสริมเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้ดีขึ้นทดแทน

นอกจากนี้ แรงงานภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันเริ่มไหลเข้าสู่ภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตร จะสามารถสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น