สนพ.เตรียมเสนอที่ประชุม กบง.ปรับลดเงินอุดหนุนดีเซล 20-30 สตางค์ต่อลิตร จากเม็ดเงินชดเชยที่ลิตรละ 5 บาท เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ หลังราคาน้ำมันดิบโลกปรับลงหนักต่อเนื่อง เผยเม็ดเงินกองทุนไหลออกวันละ 302 ล้านบาท หรือเดือนละ 9,054 ล้านบาท ส่วนอีกทางเลือกใช้ปรับลดลงหน้าปั๊มทันที 10-20 สตางค์ต่อลิตร ทันที หากค่าการตลาดและลิตรละ 1.30 บาท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในวันที่ 17 มีนาคม 2554 (วันนี้) สนพ.จะเสนอต่อที่ประชุมปรับลดวงเงินอุดหนุนราคาดีเซล ตามนโยบายดูแลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จากที่อุดหนุนปัจจุบันประมาณ 5 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็วจากปัญหาภัยพิบัติในญี่ปุ่น
นายวีระพล กล่าวว่า การลดวงเงินอุดหนุนอาจอยู่ในระดับ 30 สตางค์ต่อลิตร หรือจะเป็นเท่าใด คงต้องดูทิศทางน้ำมันที่จะปิดการซื้อขายในค่ำวันที่ 16 มีนาคม 2554 ซึ่งจะช่วยลดภาระเงินไหลออกของกองทุน ที่ขณะนี้คิดเป็นเงินไหลออก 302 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 9,054 ล้านบาทต่อเดือน แต่ทิศทางราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีการคาดว่า ญี่ปุ่นอาจต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งยังปิดตัว ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบมีทิศทางลดลง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.27 บาทต่อลิตร พร้อมระบุว่า วันนี้ สนพ.เตรียมข้อมูลเอาไว้ 2 แนวทางเพื่อให้ รมว.พลังงาน พิจารณา โดยแนวทางแรก หากค่าการตลาดน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 1.30 บาทต่อลิตร จะเสนอให้ปรับลดราคาขายปลีกหน้าปั๊มทันที 10-20 สตางค์ต่อลิตร เพื่อทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก
สำหรับแนวทางที่ 2 จะเสนอปรับลดอัตราการชดเชยราคาดีเซลลง 20-30 สตางค์ต่อลิตร จากปัจจุบันที่ชดเชยราคาอยู่ 5 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีรายจ่ายชดเชยดีเซลวันละกว่า 300 ล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า รมว.พลังงาน น่าจะเลือกวิธีการปรับลดราคาขายปลีกหน้าปั๊มทันทีมากกว่า เพราะดำเนินการได้เร็ว และเป็นการช่วยเหลือประชาชนทางตรง
ด้าน นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรเลือกวิธีการลดอัตราชดเชยดีเซลเพื่อรักษาระดับเงินกองทุนน้ำมัน เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีความแน่นอน แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม แต่คงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าเหตุการณ์ปัญหานิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจบเมื่อไหร่ เชื่อว่า แนวโน้มความต้องการใช้ดีเซลในตลาดโลกจะสูงขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและส่งผลให้ราคาน้ำมันกลับมาสูงอีกครั้ง