กพช.ประชุม วันนี้ เค้นมาตรการพยุงดีเซล “ขุนคลัง” ชี้ น้ำมันแพงต้องยอมรับความจริง “มนูญ” เสนอเงินหมดก็ควรเลิกอุ้ม เพราะอุดหนุนมานานพอสมควรแล้ว แนะจับตาผลประชุม ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย กู้เงินอุ้มราคาน้ำมัน ซ้ำรอยรัฐบาล “ทักษิณ” สร้างภาระหนี้ไว้เกือบ 1 แสนล้านบาท เตือนรัฐบาลประเมินสถานการณ์ให้รอบคอบ ผวาลุกลามอ่าวเปอร์เซียดันน้ำมันโลกทะลุ 200 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันนี้ เพื่อพิจารณาการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังเงินกองทุนฯ ลดลงเหลือไม่ถึง 7,000 ล้านบาท เพราะถูกนำไปจ่ายพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยมองว่า หากการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อดูแลราคาดีเซลจนหมดแล้ว รัฐบาลก็ควรจะยกเลิกมาตรการตรึงราคาโดยปล่อยให้เป็นกลไกตลาด
ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะอธิบายเหตุผลให้ประชาชนเข้าใจ เพราะถือว่ารัฐบาลได้ตรึงราคามาเป็นระยะเวลานานแล้ว หากรัฐบาลตัดสินใจใช้แนวทางการกู้เงินมาชดเชยราคาดีเซล ก็จะเป็นเดินซ้ำรอยรัฐบาลทักษิณที่ทุ่มเงินตรึงราคาดีเซลจนเป็นหนี้กว่า 9 หมื่นล้านบาท และการทุ่มเงินมาอุดหนุนดีเซล ไม่ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว แต่มองว่า สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันคงไม่เลวร้ายเท่ากับที่เกิดขึ้นในปี 2551 ที่ราคาอยู่ในระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยยอมรับว่า ตนเองจะหารือกับนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วันนี้ เพื่อพิจารณามาตรการดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยจะนำข้อเท็จจริงของสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่ามีจำนวนเงินเหลือเท่าใด เพียงพอต่อการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลได้นานเท่าไหร่ เนื่องจากกองทุนน้ำมันต้องมีภาระชดเชยราคาก๊าซปิโตเลียมเหลว (LPG) และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV)
“การประชุมในวันนี้ กพช.จะพิจารณาว่าควรใช้มาตรการอะไร ซึ่งขณะนี้มีมาตรการเพียงพอ แต่ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงผิดปกติ จากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริง”
โดยวานนี้ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ตนเองจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีความเหมาะสม ในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน โดยจะพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การคำนวณเงินกองทุนจะเอาหลักเกณฑ์อะไร เรื่องหนี้สินจะคำนวนล่วงหน้าหรือจะเอาแบบเดือนต่อเดือนอย่างไร เพื่อให้ชัดเจนในมาตรการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันดีเซล
สำหรับกรณีมีข่าวระบุว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ปรับลดเหลือไม่ถึง 7 พันล้านบาท นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่า มีการนำเงินที่ต้องนำไปอุดหนุนราคาพลังงานทดแทน, อุดหนุนส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซแอลพีจี และอุดหนุนราคาก๊าซเอ็นจีวี ถึงเดือนมิถุนายน 2554 นำมาคำนวณล่วงหน้า ดังนั้น คงต้องหารือถึงแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและกระทรวงการคลัง หามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมมาเสนอในที่ประชุม กพช.ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องประเมินราคาตลาดโลกด้วยว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูง จากเหตุความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงเตรียมเสนอ 3 แนวทางต่อที่ประชุม กพช. ดังนี้ 1.ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงจากขณะนี้ที่เก็บสูงถึง 5.30 บาทต่อลิตร 2.ปรับเพิ่มเพดานการชดเชยดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตร หากนายกรัฐมนตรีไม่เอาทั้ง 2 แนวทาง ก็ยังมีแนวทางที่ 3 ซึ่งจะเป็นแนวสุดท้ายที่จะนำมาใช้ คือ ให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินมาชดเชยราคาดีเซล ซึ่งอดีตเคยดำเนินการมาแล้วในสมัยอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องประเมินสถานการณ์น้ำมันให้ดี เพราะหากเหตุการณ์ตะวันออกกลางไม่จบง่ายและลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ จนถึงขั้นปิดอ่าวเปอร์เซียจะส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นมาก ซึ่งบางสำนักวิเคราะห์ว่าจะแตะถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะมีผลให้การกู้เงินเป็นจำนวนมาก และท้ายสุดก็จะเป็นภาระต่อประชาชนอยู่ดี
ขณะนี้ กองทุนน้ำมันฯ เข้ามาตรึงดีเซลไว้ที่ 5 บาทต่อลิตร คิดเป็นเงินวันละ 265 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินเดือนละ 7,950 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีนโยบายตรึงดีเซลถึงเดือนเมษายน 2554 ประเมินว่า จะต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลประเมินว่า สถานการณ์ในลิเบียจะจบลงโดยเร็ว และราคาน้ำมันจะลดลงมาก แต่สถานการณ์ตอนนี้ ได้เปลี่ยนไปแล้ว และอยู่ในภาวะไม่ปกติ ดังนั้น กพช. ต้องสรุปว่า ควรจะใช้แนวทางใด ซึ่งขณะนี้น้ำมันดิบสูงถึง 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถ้าลุกลามถึงขั้นปิดอ่าวเปอร์เซียน้ำมันก็จะอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งจะทำให้ภาระการชดเชยจะสูงมากขึ้นตามไปด้วย