นายกฯ ฉายภาพอนาคต ศก.ไทย เน้นพัฒนาโครงสร้างใหม่ เกษตร-อาหาร ทดแทนอุตสาหกรรม ชี้ ธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จะเติบโตและขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสสังคมให้ความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมในสายตานายกฯ” ในงานสัมมนา “กรีนจีดีพี อนาคต ประเทศไทย” ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยย้ำว่า จากเศรษฐกิจที่ติดลบร้อยละ 3 ในปีที่ผ่านมา ก่อนที่ในปลายปี 2552 จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น จึงคาดว่า จีดีพีในปี 2553 น่าจะเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 3.5 แม้ยังมีวิกฤตหลายด้าน และที่สำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมีพื้นฐานเข้มแข็ง
ทั้งนี้ รัฐบาลยังยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในภาคส่วน และยอมรับว่า แม้ภาคอุตสาหกรรมจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไทยยังมีศักยภาพด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารที่มีความสำคัญมาก จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรและอาหารให้เพิ่มขึ้นมากกว่าการพึ่งพาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า จากแนวคิดในการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจด้านอาหารและการเกษตร ดังนั้น จึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ทางด้านพื้นที่ทำกิน แก้ปัญหาหนี้สินการแทรกแซงด้วยการใช้ระบบประกันราคาสินค้าเกษตร การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อให้ต้นทุนเกษตรกรลดลง และเพิ่มผลผลิตสินค้าให้มีคุณภาพแข่งขันกับต่างชาติได้ ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น แนวโน้มต่อไปจะเน้นเรื่องการปลูกพืชพลังงาน อาหารแปรรูป เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง เพราะจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน และกระจายรายได้ให้เกษตรกร
ส่วนปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยอมรับว่า ขณะนี้แนวทางการแก้ปัญหาคืบไปมาก จึงน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ เพราะรัฐบาลได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA ) และการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการวางข้อกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อปูทางไปสู่ขั้นตอนพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมในอนาคต
“ยอมรับว่า ธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จะเติบโตและขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสสังคมให้ความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นข้อกฎเกณฑ์หรือการส่งเสริมธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ก็จะมีออกมาสนับสนุนมากขึ้น”
นายอภิสิทธิ์ ยังยอมรับว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ แต่ภาคเอกชนกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลง เพราะทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และเกรงว่า เมื่อกฎเกณฑ์ต่างๆ หย่อนยานลงไปเหมือนในอดีต จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้าลงทุน และข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการให้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะเมื่อนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโตเต็มที่ รัฐบาลมีแผนย้ายนิคมอุตสาหกรรมลงไปยังภาคใต้ เพราะมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีความขัดแย้งกับการเติบโตภาคอุตสาหกรรม จึงให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาอย่างละเอียด จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งการเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ที่เชื่อมท่าเรือฝั่งตะวันตกและตะวันออก ในการส่งเสริมการเติบโตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ไทยยังต้องการรายได้จากการท่องเที่ยว จึงต้องศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความสมดุล
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในคำถามการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ยอมรับว่า เมื่อไทยอยู่ในเวทีการค้าเสรี คงไม่สามารถจำกัดการแสวงหาโอกาสที่ดีเมื่อบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างประเทศดีขึ้น ก็ไม่ควรจำกัดโอกาส เมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นในระดับหนึ่ง ก็ยังสามารถเน้นการพึ่งพารายได้จากการค้า การลงทุนกับต่างประเทศได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันยังต้องให้ความสำคัญการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย