xs
xsm
sm
md
lg

วิวัฒนาการการเมืองภาคประชาชนของประเทศไทย(ว่าด้วยการเมืองภาคประชาชนและขบวนการการเมืองภาคประชาชน) (1)

เผยแพร่:   โดย: นายสันติ ตั้งรพีพากร

9 พฤษภาคม 2551

1. ความเป็นมาของการเมืองภาคประชาชนและขบวนการการเมืองภาคประชาชน

การเมืองภาคประชาชน กำเนิดขึ้นในบริบทของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ที่มีพรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มทุนเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ (ในรูปของประชาธิปไตยตัวแทน) ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ความมั่งคั่งของโภคทรัพย์ในสังคม โดยเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนเป็นผู้เสวยผลเบื้องต้นของการบริหารประเทศ ได้รับอภิสิทธิ์สารพัดประชาชนส่วนใหญ่ได้รับแต่น้อย ด้อยโอกาส ขาดช่องทาง เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างชัดเจน

การแยกขั้วในสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน ผู้มากโอกาสกับผู้ด้อยโอกาส ผู้ได้เปรียบกับผู้เสียเปรียบ ได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของชีวิตและสังคม เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เป็นที่มาของการก่ออาชญากรรม คุกคามวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ตลอดเวลา เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเรา

ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับความเดือดร้อน จึงหาทางแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งด้วยการพึ่งพาตนเองและเรียกร้องให้ภาครัฐยื่นมือเข้าช่วยเหลือ มีการรวมตัวกันเข้าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิประโยชน์ ขอความเป็นธรรมอย่างไม่ขาดสาย ในด้านต่างๆ และในรูปแบบต่างๆ กระทั่งถึงขั้นรวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่มกดดันทางการเมือง เสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วม (ในรูปของประชาธิปไตยโดยตรง) ในการกำหนดแนวทางการใช้อำนาจบริหารประเทศของนักการเมืองกลุ่มทุน หรือในบางประเทศ ได้พัฒนาเป็นพรรคการเมือง ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าไปในรัฐสภา ดำเนินการเมืองในระบบโดยตรง กระทั่งเข้าร่วมเป็นรัฐบาล ใช้อำนาจบริหารประเทศในบางส่วนบางด้าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องตกลงเงื่อนไขกับพรรคการเมืองกลุ่มทุนให้ได้ในเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญคือ ไม่ไปแตะต้องผลประโยชน์พื้นฐานของกลุ่มทุน ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับนโยบายระดับชาติ เช่น นโยบายการค้า การเงินการคลัง นโยบายต่างประเทศ และการป้องกันประเทศ เป็นต้น

ในบางประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อาทิ สวีเดน เดนมาร์ก เป็นต้น มีพรรคการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตยได้รับเลือกเป็นรัฐบาลติดต่อกันอย่างยาวนานหลายสิบปี หรืออังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่มีพรรคแรงงานเป็นพรรคการเมืองใหญ่ สามารถเอาชนะพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคเสรีนิยมเป็นครั้งคราว ก็ได้ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างจริงจัง เช่น ดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ กำหนดให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง แต่ก็ไม่ถึงกับทำลายฐานเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นเพียงการประนีประนอมกันระหว่างกลุ่มทุน (โดยพรรคการเมืองกลุ่มทุน) กับประชาชน (โดยขบวนการการเมืองภาคประชาชน) เท่านั้น

โดยภาพรวม การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนเสริมของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน มีส่วนทำให้การใช้อำนาจบริหารของพรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มทุนดำเนินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีที่สังคมต้องส่งเสริม กลุ่มทุนต้องยอมรับ และประชาชนต้องเข้าร่วม

โดยนัยนี้ การพัฒนาขบวนการการเมืองภาคประชาชนให้ใหญ่โต ด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเป็นความจำเป็นของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน เพื่อให้การใช้อำนาจบริหารประเทศของพรรคการเมืองกลุ่มทุน (หรือบางช่วงโดยพรรคการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตย) เป็นผลดีต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เป็นสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น และเกิดความพร้อมที่จะก้าวไปสู่สังคมอุดมการณ์ได้เร็วขึ้น

2. วิวัฒนาการของขบวนการการเมืองภาคประชาชนในประเทศไทย

การปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือเป็นระยะผ่านของการผ่องถ่ายอำนาจจากกลุ่มเจ้าศักดินาไปสู่กลุ่มทุน โดยกลุ่มเจ้าศักดินาได้พัฒนาตนเองเป็นกลุ่มทุนด้วย

อาจกล่าวได้ว่า การเมืองภาคประชาชนได้เริ่มต้นในทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 โดยมีการนำเสนอแนวคิดบริหารประเทศที่ถือเอาสังคมเป็นตัวตั้ง ทั้งในรูปของรัฐสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการ แต่ก็ถูกสกัดตัดตอนจากกลุ่มผู้ครองอำนาจ (หลักๆ ก็คือกลุ่มทหาร) ที่ขาดวิสัยทัศน์ เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้องเป็นสำคัญ บวกกับแรงกดดันของมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะคือสหรัฐอเมริกา บีบให้ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีทางการเมืองและการทหาร ดำเนินนโยบายต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้อำนาจปกครองตกอยู่ในมือของกลุ่มทหารยาวนานหลายสิบปี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย และจึงไม่เกิดขบวนการการเมืองภาคประชาชนแต่ประการใด

ก่อนถึง พ.ศ. 2516 การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย จึงดำเนินมาอย่างกระท่อนกระแท่น อำนาจบริหารประเทศส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทหาร มีการรัฐประหาร แย่งชิงอำนาจกันเองเป็นระยะๆ กลุ่มทุนไทยส่วนใหญ่จึงอิงแอบอยู่กับอำนาจทหาร ทั้งที่เป็นกลุ่มทุนเชื้อเจ้าและกลุ่มทุนเชื้อจีน

ชัยชนะจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้ฐานอำนาจการเมืองของกลุ่มทหารตกต่ำลง เกิดสุญญากาศทางการเมือง กลุ่มทุนไทยได้ไหลเลื่อนตัวเองเข้าสู่วงจรอำนาจโดยอัตโนมัติ ตามสภาวะและจังหวะที่เอื้ออำนวยให้ ในรูปแบบที่ตนถนัด ขณะที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของกรรมกรชาวนาโดยมีขบวนการนักศึกษาเข้าร่วมได้พัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ โดยที่กลุ่มผู้ใช้อำนาจไม่สามารถจัดการได้ ในที่สุดได้นำไปสู่การเข่นฆ่านักศึกษาอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บีบให้ขบวนการนักศึกษาประชาชนต้องหนีซมซานไปร่วมขบวนต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ไม่นานนักพวกเขาก็พบว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง จึงพากันหวนกลับสู่นาคร

ภายหลังการยุติบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขบวนการการเมืองภาคประชาชนได้พัฒนาเติบใหญ่ในรูปแบบต่างๆ อย่างรวดเร็ว และเมื่อเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะ “รสช.” จึงได้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวาง กลายเป็น “พฤษภาทมิฬ” และนำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของรัฐบาลตัวแทนกลุ่มทุน โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเมืองของประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” พรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มทุนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าใช้อำนาจบริหารประเทศ ควบคู่ไปด้วยกันนั้น ขบวนการการเมืองภาคประชาชนของประเทศไทยได้พัฒนาเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เอ็นจีโอในสาขาต่างๆ กลุ่มประชาสังคมที่เน้นสร้างความเข้มแข็งขึ้นในภาคสังคม กลุ่มสมัชชาคนจน ฯลฯ ไปจนถึงกลุ่มองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังอยู่ในสภาวะกระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ

อุบัติการณ์ “วิกฤตการเงินเอเชีย” อันสืบเนื่องจากการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2540 และการปิดกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 56 แห่งในเวลาต่อมา ได้ทำลายฐานโครงสร้างกลุ่มทุนไทยครั้งใหญ่แบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยกลุ่มทุนดั้งเดิมหดเล็กลงทันตา พร้อมๆกับการพองตัวเพียงชั่วข้ามคืนของกลุ่มทุนใหม่ที่อิงติดอยู่กับกระแสทุนโลกที่มีลักษณ์สามานย์

ด้วยกโลบาย “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส”ของกลุ่มทุนใหม่ พวกเขาได้ฉวยจังหวะที่กลุ่มทุนดั้งเดิมยังไม่ได้ฟื้นตัว บวกกับภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาคนกรุง และการทำงานเชิงจัดตั้งในหมู่ประชาชนที่ยากจนในชนบทห่างไกล กลุ่มทุนใหม่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เถลิงอำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จใน พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับกวาดต้อนพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กจำนวนหนึ่งเข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทย จัดตั้งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพสูงสุด สามารถบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี และได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งใหญ่และจัดตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวอีกครั้งในปี 2548 และมีแนวโน้มที่จะครองอำนาจยืดเยื้อต่อไปอีกหลายสมัย

กระนั้น แนวการบริหารอำนาจแบบรวบหัวรวบหาง ผูกขาดตัดตอน และกินนอกกินใน ถือเอาผลประโยชน์กลุ่มตนเป็นที่ตั้ง ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนดั้งเดิมและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก อีกทั้งสวนทางอย่างชัดเจนต่อแนวโน้มพัฒนาการทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในย่านเอเชียแปซิฟิก ที่เน้นความโปร่งใส เป็นธรรมาภิบาล ได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจบริหารประเทศและการจัดสรรทรัพยากรในสังคมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพฤติกรรมที่นำไปสู่การเกิด “ผลประโยชน์ทับซ้อน”ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะ ในหลายๆ กรณี

การไม่รับฟังข้อทักท้วง หนำซ้ำยังตอบโต้ด้วยมาตรการแข็งกร้าว ได้กระตุ้นให้เกิดกระแสคลื่นต่อต้าน นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งพัฒนาเป็นขบวนการขับไล่โค่นล้มระดับชาติ และนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจของคณะ “คมช.” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในที่สุด

ในช่วงการบริหารประเทศของกลุ่มทุนใหม่ที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทน การเคลื่อนไหวของขบวนการการเมืองภาคประชาชนถูกดึงไปพ่วงเข้ากับอำนาจกลุ่มทุนใหม่ ประสานสอดไปกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองกับภาครัฐบาลได้

การเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผลจากการรวมตัวกันเข้าของกลุ่ม องค์กร ที่ต่อต้านการผูกขาดอำนาจ และการใช้อำนาจแบบฉ้อฉล ทุจริตโกงกินของกลุ่มทุนใหม่ที่เป็นแกนนำในพรรคไทยรักไทยโดยตรง สามารถระดมมวลชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันสั้น นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของขบวนการการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะจุดเด่นที่เน้นการ “จุดเทียนปัญญา” ทำให้เกิดกระบวนการ “รู้ทันทักษิณ” เปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริงของ “ระบอบทักษิณ” สามารถสร้างความตื่นตัวระดับชาติ มีสถานภาพเป็นขบวนการการเมืองภาคประชาชนระดับชาติอย่างแท้จริง

การก่อกำเนิดขึ้นของสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยก็คือความต่อเนื่องของปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเน้นการจัดตั้งด้วยการสร้างปัญญา มุ่งเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการจัดตั้งที่มีความเป็นเอกภาคสูงสุดทางความคิดทั่วทั้งประเทศ

การเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ได้ยกระดับขบวนการการเมืองภาคประชาชนของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย มาเป็นกลุ่มเป็นแกนระดับชาติ ปูพื้นฐานให้แก่การก้าวไปสู่การรวมตัวกันเข้าของขบวนการการเมืองภาคประชาชนในระดับชาติที่กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น