xs
xsm
sm
md
lg

จีนและอินเดียสองยักษ์ใหญ่ของโลก

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

จีนและอินเดียเป็นประเทศใหญ่ในแง่ของพื้นที่และจำนวนประชากร รวมตลอดทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนาน สองประเทศที่กล่าวมานี้มีแนวโน้มที่จะเป็นมหาอำนาจของโลก จีนมีประชากรทั้งสิ้น 1,300 ล้านคน ในขณะที่อินเดียมีประชากร 1,000 ล้านคน จำนวนประชากรของทั้งสองประเทศเมื่อรวมกันแล้วประมาณหนึ่งในสามของจำนวนประชากรโลก จำนวนประชากรอันมากมายนี้มีนัยสำคัญยิ่งในทางเศรษฐกิจ

ในเบื้องต้น จากจำนวนประชากรย่อมสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้ตลาดภายในเป็นฐาน เมื่อมีอุปสงค์มากมายอันเนื่องจากความต้องการของประชากรต้นทุนการผลิตย่อมต่ำ และสามารถจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและอื่นๆ ดำเนินไปได้ จำนวนประชากรอันมากมายนั้นยังเป็นทรัพยากรมนุษย์หรือกำลังผลิตที่สามารถจะใช้รูปแบบการผลิตโดยใช้แรงงานเป็นหลัก ในกรณีของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางหรือขั้นต้นคือช่างฝีมือ ที่สำคัญจำนวนประชากรอันมากมายนั้นยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างกำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศ ถึงแม้ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีในการรบทำให้กำลังคนลดความสำคัญลง แต่ในความเป็นจริงกำลังประชากรก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในกรณีของจีนนั้นการบรรเทาสาธารณภัยหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติจะใช้กองกำลังทหารเป็นหลัก

นอกเหนือจากนี้ จากแผ่นดินอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ของสองประเทศ ยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายพร้อมที่จะถูกนำมาใช้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศเล็กเช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ทั้งจีนและอินเดียจะต้องพึ่งพากันก็คือ จะต้องมีระบบการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ที่สามารถจะปลุกระดมทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยใช้ความรู้ทางวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าสู่ความเป็นมหาอำนาจ และก็มีแนวโน้มว่าความเป็นไปได้ดังกล่าวมาแล้วอยู่ในขั้นสูง

ในสามทศวรรษก่อนได้มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า อินเดียน่าจะพัฒนามากกว่านี้ถ้าปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ และในขณะเดียวกันนั้นก็ได้มีการทำนายว่า เนื่องจากประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีอุดมการณ์ที่มั่นคง จึงน่าที่จะพัฒนาเร็วกว่าอินเดีย ในกรณีของอินเดียนั้นหลายคนมองด้วยความเป็นห่วงจนมีหนังสือบางเล่มกล่าวถึงอินเดียในลักษณะเป็นประเทศที่กำลังเป็นวิกฤตอย่างเงียบๆ (The Quiet Crisis) ในขณะเดียวกัน จีนก็ถูกมองว่าอาจจะพัฒนาจนสามารถเอาชนะสหรัฐฯ ได้ แต่หลายคนก็ไม่เชื่อคำวิเคราะห์ดังกล่าว

ผู้เขียนซึ่งเคยเดินทางไปประเทศอินเดีย 10 ครั้ง และเดินทางไปประเทศจีน 29 ครั้ง โดยการเดินทางไปแผ่นดินใหญ่จีนครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นใน ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) เมื่อเหมาเจ๋อตง ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่เดินทางไปนั้นเป็นจุดสูงสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยเติ้ง เสี่ยวผิง ถูกปลดออกจากอำนาจวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) โดยผู้เขียนและคณะอยู่ที่กรุงปักกิ่งในขณะนั้น จึงได้มีโอกาสเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตความวุ่นวายทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการปฏิวัติวัฒนธรรม ระบบการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ ของจีน

หลังจากผู้เขียนกลับจากเมืองจีนไปยังเกียวโตซึ่งผู้เขียนเป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนขณะนั้นได้กล่าวในการสัมมนาว่า เนื่องจากจีนมีระบบการเมืองที่สามารถปลุกระดมทรัพยากรมนุษย์ได้ และเนื่องจากทรัพยากรอันมหาศาล เมื่อไหร่ก็ตามที่จีนสามารถได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีนจะเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของประเทศญี่ปุ่น

ในแง่ประเทศอินเดียนั้น ผู้เขียนเคยทำนายว่าภายในสามหรือสี่ทศวรรษอินเดียจะเป็นประเทศที่หลายคนต้องกล่าวถึง นักวิชาการส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการไทยทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่างรู้สึกขบขันกับการวิเคราะห์ดังกล่าว และหลายคนกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จีนและอินเดียจะเป็นประเทศมหาอำนาจ และหลังจากสามทศวรรษแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ โดยผู้เขียนได้เคยทวงถามข้อโต้แย้งจากนักวิชาการหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ ทุกคนต่างก็เงียบและไม่ตอบหรือแสดงความคิดเห็นอันใด

ศาสตราจารย์ เอ.เอฟ.เค ออร์แกนสกี้ (A.F.K. Organski) แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้เคยกล่าวไว้ในคำบรรยายที่ The Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University ว่า อำนาจแห่งชาติ (National Power) จะเกิดขึ้นเมื่อมีความจำเริญแห่งชาติ (National Growth) โดยความจำเริญแห่งชาติจะเกิดขึ้นนั้นจะต้องมี 5 ตัวแปรหลัก ดังนี้

ตัวแปรแรก คือ การพัฒนาการเมือง ซึ่งหมายถึงการมีระบบการเมืองที่ปลุกเร้าประชากรให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือระบบสังคมนิยม หรือแม้กระทั่งระบบฟาสซิสต์

ตัวแปรที่สอง ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจจากเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม ปัจจุบันก็ได้แก่ข่าวสารข้อมูลโดยต้องใช้วิทยาการเป็นหลัก

ตัวแปรที่สาม สังคมนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้มีการขยับชั้นทางสังคมโดยการมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา

ตัวแปรที่สี่ ประชาชนในสังคมนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำต้องมีจิตวิทยาที่ทันสมัย โดยมีจิตวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล มีวิสัยทัศน์

ตัวแปรที่ห้า ออร์แกนสกี้ กล่าวว่า ประชากรที่มีจำนวนมากพอจะเป็นตัวแปรสำคัญยิ่ง มหาอำนาจในอดีตไม่เคยมีประเทศใดที่มีประชากรต่ำกว่า 30 ล้านคน เพราะประชากรที่มีจำนวนมากจะเป็นพลังในกำลังผลิต เป็นตัวแปรในการซื้อและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน นอกจากนี้ยังเป็นกำลังป้องกันประเทศอันสำคัญ แต่ประชากรต้องเป็นประโยชน์ไม่ใช่เป็นภาระ กล่าวคือ มีการศึกษา มีระเบียบวินัย มีจิตสำนึก และอยู่ในกลุ่มอายุในช่วงการผลิตคืออายุ 16-59 ปี มากที่สุด

ผู้เขียนทำนายเกี่ยวกับจีนและอินเดียโดยใช้ตัวแปรห้าตัวดังกล่าวของออร์แกนสกี้ โดยผู้เขียนมองว่าจีนเป็นประเทศเก่าแก่ มีวัฒนธรรมและอารยธรรมสูงส่งมานาน มีประชากร 800 ล้านคน (ประชากรในขณะนั้น) มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพพอสมควร ลัทธิสังคมนิยมทำให้มีจิตวิทยาศาสตร์ สิ่งที่จีนขาดคือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นเพราะหลังจากการประกาศนโยบายสี่ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง อันได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตร การป้องกันประเทศ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จีนก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่กลับหน้ามือเป็นหลังมือภายในสองทศวรรษ

ส่วนอินเดียอาจจะเสียเปรียบจีนในแง่ระบบวรรณะ มีคนยากจนจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องความทันสมัยในทางจิตวิทยาบางส่วนเพราะคนคลั่งศาสนา แต่ประเด็นก็คือตัวแปรที่ทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้านั้นอาจจะไม่มีความสำคัญเท่ากันทั้งห้าตัว ประชากรที่มีจิตวิทยาทันสมัยนั้นอาจจะมีเพียงจำนวนน้อยซึ่งอยู่ในตำแหน่งอำนาจ เพราะประชาชนส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ตามไม่ใช่ผู้ตัดสินนโยบาย

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีนักวิทยาศาสตร์เป็นที่สามของโลกในขณะนั้น โดยสหรัฐฯ มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่สุด ตามมาด้วยสหภาพโซเวียต (ก่อนเปลี่ยนเป็นรัสเซีย) และอินเดีย ที่สำคัญอินเดียมีระบบเศรษฐกิจและการประกอบการทางธุรกิจแบบทุนนิยม แม้จะผสมผสานทุนนิยมกับนโยบายสังคมนิยมบ้างก็ตาม ที่สำคัญ อินเดียมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

เมื่อบวกลบคูณหารแล้วความเสียเปรียบของอินเดียเมื่อเทียบกับจีนก็กลับได้เปรียบในบางด้าน ส่วนจีนนั้นแม้ระบบการเมืองจะมั่นคง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพส่วนตัว แต่ก็ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเหมือนอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั้งอินเดียและจีนต่างก็มีตัวแปรพร้อมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อจะผลักดันประเทศไปข้างหน้าได้

อินเดียเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากในเรื่องความชำนาญการในละมุนภัณฑ์ของสมองกล จนเป็นผู้ที่ทำงานในองค์กรต่างๆ ในประเทศตะวันตกจำนวนมาก แม้กระทั่งในภาพยนตร์ถ้าเกี่ยวข้องกับสมองกลก็จะมีคนอินเดียเป็นผู้ใส่โปรแกรมต่างๆ เข้าไปต่อสู้ห้ำหั่นกัน อินเดียจึงเปิดโรงงานที่เซี่ยงไฮ้โดยมีลูกจ้างที่เป็นชาวจีน มีคนงานประมาณ 400 คน เพื่อผลิตละมุนภัณฑ์ทางสมองกล

ส่วนจีนมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งของใช้ในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า จีนจึงลงทุนในอินเดียหรือร่วมทุนกับอินเดียในการผลิตดังกล่าว แต่ทั้งสองยักษ์ใหญ่กำลังเป็นประเทศที่มีการผลิตและมีกำลังซื้อขายอย่างมหาศาลในอนาคต จนมีชาวอินเดียที่เป็นมหาเศรษฐีของโลกคือนาย Lakshmi N. Mittal มหาเศรษฐีซึ่งซื้อโรงถลุงเหล็กของฝรั่งเศส โดย TATA และสองพี่น้องในบริษัท Reliance ต่างเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยของโลก จีนยังไม่มีมหาเศรษฐีขั้นนั้นยกเว้นเศรษฐีเก่าในฮ่องกง

แต่ความแตกต่างสำคัญที่สุดระหว่างจีนและอินเดียคือระบบการปกครอง โดยอินเดียมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ขณะเดียวกัน จีนเริ่มปลดปล่อยให้มีการเลือกตั้งในหมู่บ้าน และคาดกันว่าในอนาคตอาจจะมีการเลือกตั้งผู้บริหารเมืองใหญ่ๆ ในทางสังคมจีนมีความเสมอภาคโดยประชาชนได้รับความคุ้มครองในรัฐธรรมนูญเท่าเทียมกัน แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ส่วนอินเดียมีระบบวรรณะและมีบุคคลที่เรียกว่าจัณฑาลเป็นจำนวนมาก

โดยสรุป ทั้งสองประเทศมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่ทุกประเทศก็มีจุดแข็งจุดอ่อนด้วยกันทั้งนั้น นโปเลียน โบนาปาร์ต เคยกล่าวเตือนถึงการตื่นจากการหลับของยักษ์ใหญ่คือจีน แต่นโปเลียนได้มองข้ามอินเดียไป อย่างไรก็ตาม สิ่งซึ่งสังคมนานาชาติหลีกเลี่ยงไม่ได้คือจะต้องตื่นขึ้นมายอมรับการกำเนิดและการเติบโตของสองวัฒนธรรมและอารยธรรมอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของโลก คือ จีน และอินเดีย ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสองจะมีบทบาทอย่างยิ่งในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ รวมแม้กระทั่งค่านิยมและแบบกระสวนของพฤติกรรมในบางด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น