xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพ ฟ้าผ่ารอบสองที่มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แกนนำเอ็นจีโอ ชี้ปมชาวบ้านมาบตาพุดที่เจ็บป่วย ยังมีเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สะท้อนปัญหามลพิษที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ตามที่ภาครัฐ-ฝ่ายผู้ประกอบการกล่าวอ้าง เชื่อศาลยกคำอุทธรณ์ของภาครัฐ-โรงงาน หลังได้รับข้อเท็จจริงกรณีแนวโน้มปัญหามลพิษที่มาบตาพุดยังมีเพิ่มขึ้น พร้อมจี้ปลด ปลัดกระทรวงทรัพย์ ออกจาก คกก.4ฝ่าย เพราะเพิกเฉยต่อปัญหาของชาวบ้านมาโดยตลอด ด้านเครือข่าย ปชช.ลั่นเดินหน้าสู้คดีต่อในศาล รธน.หากแพ้ในศาลปกครองกลางระยอง เพราะหลายเรื่องยังเกี่ยวข้องกับเนื้อหารัฐธรรมนูญ


นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มั่นใจว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อมูลของผู้ฟ้องคดี (สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 43 คน) แล้ว ศาลจะยกอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมพวกรวม 8 คน) และผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากข้อเท็จจริงยังปรากฎว่า ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดยังไม่หมดไป อีกทั้งมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมายนั้นหน่วยงานภาครัฐก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดไว้

“เรามั่นใจมาตลอดว่าข้อมูลที่ให้กับศาล จะทำให้ศาลสั่งยกคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 เนื่องจากข้อเท็จจริงสะท้อนว่า ปัญหามลพิษไม่เคยได้รับการแก้ไข ประชาชนที่เจ็บป่วยยังมีการเสียชีวิตเพิ่มอีก การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การสร้างภาพ หรือเอาบทวิจัยทางวิชาการมาเพื่อกลบปัญหา แล้วให้ชาวบ้านหยวนยอมความโดยใช้เงินปิดปาก”

สำหรับการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานนั้น นายศรีสุวรรณ มองว่า กรรมการชุดนี้ทำหน้าที่เหมือนหนังหน้าไฟที่รับเป็นตัวแทนของภาครัฐเท่านั้น เพราะหากมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแล้ว อาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากติดขัดตามข้อประกาศเดิมที่มีอยู่ ซึ่งออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจำแนกประเภทอุตหสากรรมที่มีผลกระทบรุนแรง ตลอดจนการทำงานบางอย่าง อาจมีความซ้ำซ้อนกันได้

ดังนั้น หากจะให้การทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายประสบผล อาจจำเป็นต้องยกเลิกบางประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก็จะคล้ายกับการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีในการแก้ไขปัญหามลพิษบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมกันนี้ ภาคประชาชนยังเสนอให้เปลี่ยนตัวนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ออกจากกรรมการ 4 ฝ่าย โดยให้รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด

“เราได้ข้อสรุปแล้วว่า ที่ผ่านมา ท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เพิกเฉยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอด เราถึงได้นำเรื่องนี้มาฟ้องศาล ควรจะให้คนอื่นได้เข้ามาดูแลบ้าง เพื่อความเป็นกลางกับทุกฝ่าย”

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้ตนเองจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ 4 ฝ่าย แต่ได้รับการติดต่อจากนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการฯ เพื่อขอหารือแลกเปลี่ยนความเห็น คาดว่าจะมีโอกาสได้คุยกันวันนี้และจะเสนอให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ผนวกประเด็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลของ 181 โครงการไว้เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ หลังจากที่สมาคมส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการ 181 โครงการลงทุนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนนั้น เชื่อว่าขณะนี้ผู้ประกอบการดังกล่าวน่าจะได้รับหนังสือแล้ว สมาคมฯ จะขอรอดูท่าทีก่อนว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าการพัฒนาประเทศชาติจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ แต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง ซึ่งข้อเท็จจริงมีการพิสูจน์เห็นแล้วว่าตั้งแต่เริ่มโครงการนิคมอุตสหกรรมมาบตาพุดในปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเข้าไปแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไปแล้วนับหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณอย่างมาก

สำหรับแนวทางดำเนินการกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด นอกเหนือจากที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้ต่อสู้คดีทางศาลนั้น ยังได้ไปร้องเรียนกับ 4 องค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วุฒิสภา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เข้ามาช่วยตรวจสอบว่ารัฐบาลดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้หรือไม่ และจากที่เรื่องดังกล่าวยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ท้ายสุดเรื่องนี้อาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

“ขณะนี้ทางเครือข่ายยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานวุฒิสภา และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลว่า ได้ทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 หรือไม่ หากพบว่าต้องมีการตีความตามหลักรัฐธรรมนูญ องค์กรเหล่านี้ต้องนำไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ชี้ขาดต่อไป เพราะหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับเนื้อหารัฐธรรมนูญ และทางเครือข่ายจะยื่นคดีหลักของศาลปกครองกลางระยอง เพื่อให้ศาลปกครองกลางเดินหน้ายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย”

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองสูงสุดนัดสรุปคำไต่สวนคำอุทธรณ์คดีมาบตาพุด เย็นวันนี้ หลังไต่สวนมาแล้ว 2 ครั้ง โดยตัวแทนเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก มั่นใจว่า จากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ฝ่ายผู้ฟ้องยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดจะมีน้ำหนักเพียงพอ ทำให้ศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางจังหวัดระยอง เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน โดยคดีหลักยังคงเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา

ส่วนกรณีที่กลุ่มประธานชุมชนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ออกมาคัดค้านการแต่งตั้งให้ตน เป็นตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้น เป็นกลุ่มเดิม คือ กลุ่มระยองสมานฉันท์ที่เปลี่ยนรูปโฉมเท่านั้น ซึ่งการแสดงความเห็นของประชาชนชาวมาบตาพุด สามารถทำได้ตามสิทธิ แต่ต้องตั้งคำถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้เคยแสดงความเห็นที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหรือไม่ แต่ตามหลักไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย แต่หากต้องการแสดงความเห็นก็ควรใช้เวทีในการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนได้

นายสุทธิ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายนัดแรก ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 (พรุ่งนี้) ที่บ้านมนังคศิลา เชื่อว่า อาจจะเป็นการวางกรอบการทำงานร่วมกันและกำหนดระยะเวลาการทำงานในแต่ละสัปดาห์ ว่า ควรมีกี่วันรูปแบบการประชุมจะเป็นเช่นไร ใช้รูปแบบฉันทามติหรือการถกเถียง โดยเชื่อว่าจะเป็นกลไกหาทางออกปัญหามาบตาพุดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น