ปตท.เตรียมสรุป ยื่นอุทธรณ์มาบตาพุด สัปดาห์หน้า เพราะไม่แน่ใจว่าจะบินเดี่ยวยื่นเอง หรือควรจะยื่นร่วมกับรายอื่น บิ๊ก ส.อ.ท.ห่วงเม็ดงิน 2-3 แสนล้านไหลออก นักวิเคราะห์ ชี้ การประเมินผลกระทบของ ปตท.แต่ละค่ายใช้วิธีคำนวณต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะใช้วิธีอะไร เพราะไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงการแก้ปัญหาโครงการลงทุนมาบตาพุด 25 โครงการถูกคำสั่งศาลสั่งระงับชั่วคราว โดยระบุว่า ในสัปดาห์หน้า ปตท.คาดว่า จะได้ข้อสรุปในการหารือร่วมกับผู้ประกอบการในมาบตาพุดเกี่ยวกับแนวทางการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง เพื่อขอทุเลาคำสั่งระงับโครงการลงทุนทั้ง 76 โครงการ ว่า จะเป็นการแยกยื่นอุทธรณ์โดย ปตท.เอง หรือควรจะยื่นร่วมกับบริษัทอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เนื่องจากภาครัฐ 8 องค์กรได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับคำอุทธรณ์หรือไม่ ดังนั้น ปตท.ขอดูความชัดเจนก่อน โดยจากท่าทีภาครัฐล่าสุดที่จะมีการจัดตั้งกฎหมายลูกและมีการอุทธรณ์ดังกล่าว เชื่อว่า ทุกอย่างน่าจะเป็นทางออกที่ดี และโครงการต่างๆ จะดำเนินการได้ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะกระทบต่อภาพรวมทุกด้านของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปตท.ประเมินในเบื้องต้นว่า หากการยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นผล ก็จะกระทบกับแผนลงทุน 5 ปีของ ปตท.ที่ได้กำหนดวงเงินลงทุนไว้ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 และ LNG Receiving Terminal ที่กำลังเดินหน้าก่อสร้างโครงการจะต้องหยุดชะงักลง และยังมีผลไปถึงโครงการวางท่อก๊าซเส้นที่ 4 (ระยอง-สระบุรี) แม้จะอยู่นอกพื้นที่มาบตาพุด แต่ก็จะกระทบไปด้วยเพราะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกัน
“ตอนนี้เริ่มกลับมาดูว่า ถ้าโครงการถูกระงับไป จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้รับเหมา พนักงาน แบงก์ การจัดซื้ออุปกรณ์ ก็จะต้องมีการหาทางออก แต่ก็ยังหวังว่าน่าจะยังไปได้ เพราะการยื่นอุธรณ์ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นกระบวนการตามกฎหมาย”
ก่อนหน้านี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ นักลงทุนใหม่ชะลอแผนการลงทุนในไทยวงเงิน 2-3 แสนล้านบาท แล้วหันไปสำรวจข้อมูลการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และจีน เนื่องจากไม่เชื่อมั่นกฎหมายของไทย
“ตอนนี้ นักลงทุนเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและภาคประชาชนของไทยช่วงที่ผ่านมา ยังมีระบบกฎหมายเข้าไปควบคุมได้ แต่เรื่องของมาบตาพุตเป็นปัญหาของความไม่ชัดเจนของกฎหมายเอง ทั้งที่รัฐบาลให้ใบอนุญาตดำเนินกิจการ และผู้ประกอบการดำเนินตามขั้นตามที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างไปแล้ว”
นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บีฟิท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ได้รับผลกระทบจากกรณีมาบตาพุดทำให้หลายโครงการมีการดำเนินการล่าช้ากระทบกับการเติบโตรายได้และกำไรในอนาคต ขณะที่การประมาณการความเสียหายจากของกลุ่ม ปตท.ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีมาบตาพุด นักวิเคราะห์แต่ละค่าย ต่างประเมินผลกระทบที่แตกต่างกัน แล้วแต่จะใช้วิธีประเมินอย่างไร
นักวิเคราะห์บางแห่งมองว่า หากโครงการล่าช้าไป 1 ปี อาจจะทำให้รายได้และกำไรลดลง แต่หากจบเร็วกว่าที่คาด ก็จะทำให้ผลกระทบต่อรายได้และกำไร ลดลง ขณะที่บางแห่งคำนึงถึงมูลค่าทางสังคม ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจประเมินค่าไม่ได้ อาทิ ความเสียหายจากมลพิษที่จะบานปลายไปในอนาคต เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ในระยะ 5 ปี หรือการแลกกับอุตสาหกรรมขยะที่ประเทศพัฒนาแล้ว พยายามผลักดันไปยังประเทศด้อยพัฒนา