งัดไม้เด็ดแก้น้ำมันแพง นายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลเตรียมทบทวนมาตรการทางด้านภาษีน้ำมัน-กองทุน หลังราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เน้นดูแลดีเซลต้องไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ประกาศนโยบายแก้ปัญหาผลกระทบระยะสั้น ตรึงราคาเอ็นจีวี-แอลพีจี จนถึงเดือน ส.ค.53
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงปัญหาราคาน้ำมันที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลผลักภาระให้แก่ประชาชน ทั้งที่เคยหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2550 จะลดภาระในเรื่องดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งช่วงนั้น ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับค่อนข้างสูง หรือประมาณ 60-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงเสนอให้ลดภาระการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ปรากฏว่า ภาวะราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ช่วงหนึ่งพุ่งสูงขึ้นถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงนั้นโครงสร้างการใช้น้ำมันเปลี่ยนแปลงไปมาก ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์-ไบโอดีเซลสูงมาก ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ก็พร้อมหนุนนโยบายพลังงานทดแทนต่อเนื่อง
รัฐบาลชุดที่แล้วได้แก้ปัญหาน้ำมันแพงด้วยการลดภาษี เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามา มาตรการดังกล่าวหมดอายุ ประกอบกับมีการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงเหลือ 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทางรัฐบาลได้ตัดสินใจเก็บภาษีในอัตราเดิม และได้มีการขึ้นภาษี 2 บาทต่อลิตร ที่เก็บภาษีมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และไม่ส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันฟุ่มเฟือย จึงเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนทำให้สถานะกองทุนและการคลังมีความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งสูงกลับมาอยู่ที่เกิน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลก็พร้อมที่จะทบทวนนโยบายต่างๆ ทั้งหมด
“อนาคตข้างหน้า หากว่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เราพูดกันในเชิงหลักการแล้วว่า รัฐจะดูแลเงินกองทุนน้ำมันไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน โดยจะเก็บเข้ากองทุนเพื่อให้เป็นประโยชน์บางเรื่อง เท่านั้น เช่น อุดหนุนก๊าซหุงต้ม ดูแลราคาแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล บี4 โดยในส่วนของก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี นั้น ตกลงกันแล้วว่าจะตรึงราคาไปจนถึงเดือน ส.ค.ปีหน้า”
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 10 สิงหาคม 2552 (วันนี้) เพื่อพิจารณาลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนเป็นแพ็คเกจ โดยในส่วนของราคาน้ำมันนั้น ได้เสนอแผนการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในน้ำมันทุกชนิด พร้อมผลกระทบในสามแนวทาง ได้แก่
1.ลดการเก็บเงินเข้ากองทุน 1 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้กองทุนขาดรายได้ 700-900 ล้านบาทต่อเดือน 2.ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน 1.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนขาดรายได้ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อเดือน และ 3.ลดการเก็บเงิน 2 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนขาดรายได้ 1,700-1,800 ล้านบาทต่อเดือน จากปัจจุบันที่กองทุนมีรายได้รับเดือนละ 3,300 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ในน้ำมันเบนซิน 95, 91 และดีเซล โดยการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนดังกล่าวจะเสนอให้มีผลทันที เพื่อทำให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันลดลง
ขณะเดียวกัน ยังจะเสนอที่ประชุมขออนุมัติในหลักการให้ดำเนินการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซลในอนาคต หากราคาน้ำมันใกล้ถึง 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ แพกเกจที่จะนำเสนอขออนุมัติจาก กพช.ในคราวเดียวกันนี้ ประกอบด้วย การตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่ใช้ในทุกภาคส่วนทั้งภาคครัวเรือนและขนส่งที่ระดับ 18.30 บาทต่อกิโลกรัม ออกไปอีกหนึ่งปีถึงเดือนสิงหาคม 2553