“เอ็นจีโอ” โวย กพช.ลดเก็บเงินกองทุนเชื้อเพลิง-อนุรักษ์พลังงาน แก้น้ำมันแพง ทำไมจึงไม่ลดภาษีสรรพสามิต หวั่นโดนล้วง 6 พันล้าน หว่านประชานิยมทำแผนรถไฟฟ้าสะดุด แนะภาวะน้ำมันแพงปัจจุบัน ควรลดภาษี 3 บาทด้วย “วรรณรัตน์” มั่นใจ 10 ส.ค.นี้ได้ข้อสรุป
น.ส.สุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการแก้ไขสถานการณ์น้ำมันในประเทศราคาแพง โดยระบุว่ารัฐบาลควรจะลดทั้งภาษีและเงินกองทุน รวมประมาณ 3 บาทต่อลิตร โดยในส่วนของภาษี กระทรวงการคลังทำไม่ถูกมาตั้งแต่ต้นที่เริ่มเก็บในช่วงราคาน้ำมันเริ่มแพงในอัตรา 2 บาทต่อลิตร ดังนั้น เมื่อน้ำมันแพงมากขึ้นก็ควรจะลดภาษี 1 บาทต่อลิตรเป็นการชั่วคราว
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็ต้องตอบโจทย์ได้ว่า เมื่อมีการเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้ว เงินที่ใช้ก็ควรจะไปใช้เพื่อระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบน้ำมันแพงหรือเพิ่มความ สะดวกสบายด้านการขนส่ง ไม่ใช่นำไปใช้เป็นการทั่วไป หรือการทำประชานิยม ขณะเดียวกันเงินกองทุนอนุรักษ์ เพื่อระบบขนส่งมวลชน 6,000 ล้านบาท ก็ต้องนำไปเพื่อวัตถุประสงค์นี้จริงๆ ไม่ใช่โอนไปเป็นเงินที่ใช้เรื่องอื่นๆ
ส่วนเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง น.ส.สุวพร กล่าวว่า ควรจะพิจารณาลดในส่วนของเบนซิน 91 อัตรา 2 บาทต่อลิตร เพราะมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนก็ควรลดเงินนำส่งกองทุนในส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อัตรา 1 บาท ลดดีเซลบี 2 ในอัตรา 1 บาทต่อลิตร ซึ่งควรจะลดเป็นการชั่วคราวบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในช่วงน้ำมันแพง ก็จะเป็นการใช้กองทุนน้ำมันฯตามวัตถุประสงค์ คือ ใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ จากกรณีที่ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด
ล่าสุด นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง โดยระบุว่า ในวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2552 นี้ รัฐบาลจะมีการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นการเร่งด่วน เพื่อตัดสินตัวเลขการลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 50 สตางค์ ซึ่งเป็นเงินสร้างรถไฟฟ้าที่จัดเก็บจากเบนซิน 95 เบนซิน 91 และดีเซลบี 2 โดยในขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังทำตัวเลขที่เหมาะสมว่าจะลดได้เท่าใด โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันมีเงินไหลเข้าต่อเดือน 3,300 ล้านบาท และมีวงเงินรวม 16,000 ล้านบาท
“คาดว่าตัวเลขที่ออกมาจะเป็นที่น่าพอใจที่จะลดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งในฐานะกระทรวงพลังงานดูแลเงินกองทุนฯ เหล่านี้จะใช้แนวทางที่พิจารณาและเป็นประโยชน์ในทุกด้าน”
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะมีการเสนอ ต่อ กพช.ใน 2-3 ทางเลือก ได้แก่ การลดอัตราเงินนำส่งกองทุนทั้งกลุ่มเบนซิน-ดีเซล พร้อมทั้งกำหนดกรอบเวลา และมีการแจกแจงว่าแต่ละทางเลือกจะเป็นอย่างไร พร้อมยกกรณีการลดเงิน 2 กองทุนโดยรวมตัวเลขแล้วจะมีอัตราประมาณ 1-2 บาทต่อลิตร เป็นต้น ก็จะสามารถลดราคาน้ำมันได้ทันที หากได้รับความเห็นชอบ ส่วนเรื่องเงินกองทุนสร้างรถไฟฟ้า 6,000 ล้านบาท ก็จะมีการเสนอโอนไปให้กระทรวงการคลังเช่นกัน เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งนั้นก็เพื่อใช้ในกิจการระบบขนส่งมวลชน