การประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ เตรียมพิจารณากรอบกู้เงินต่างประเทศ 7 หมื่นล้าน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมถกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ปี มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่การประชุมร่วม 2 สภา วานนี้ ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง ก่อนไฟเขียวกรอบเจรจาเงินกู้
การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าร่วมการประชุม โดยมีการพิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเวลา 3 ปี (2552-2554) วงเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท โดยเตรียมเสนอกรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศ 70,000 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
โดยวานนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 70,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 307 ต่อ 36 เสียง ซึ่งถือว่าเสียงถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา 613 คนพอดี หลังจากใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง เปิดให้สมาชิกรัฐสภาสลับสับเปลี่ยนกันอภิปราย
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงท้ายการประชุม นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงโดยย้ำถึงความจำเป็นในการกู้เงิน และเชื่อว่า หากที่ประชุมเห็นชอบกรอบการเจรจาดังกล่าว รัฐบาลจะสามารถผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น จะเพิ่มการจ้างงานได้ถึง 200,000 อัตรา และพร้อมรับคำแนะนำจากการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา
นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมฯ ยังได้พิจารณาร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และร่างสัญญาเงินกู้ ซึ่ง นายกรณ์ ได้ชี้แจงต่อสภาว่า การกู้เงินกว่า 60,000 ล้านเยน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายเพียง 1 คน ก่อน นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานที่ประชุม สั่งพักการประชุม และนัดดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในเวลา 10.00 น.วันนี้
นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะมีการเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตที่ 2 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี ให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในวันนี้ เพื่อพิจารณา โดยระบุว่า แผนดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะมีการมุ่งเน้นไปที่การลงทุนด้านสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจในระยะยาว
“การอัดเม็ดเงิน ควรมีการกระจายการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ไปนอกเขตเมือง เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในวงกว้าง ทั้งนี้เห็นว่า ภาครัฐต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ก็ควรมีมาตรการที่อำนวยความสะดวก เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน”
อย่างไรก็ตาม นายโคทม มองว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล ที่เป็นการอัดเม็ดเงินถึงมือผู้บริโภค ขณะนี้ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน โดยมองว่า แผนในล็อตถัดไป ควรเน้นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยตรง อาทิ ผู้ประกอบการ SME และ สินค้าเกษตร