รมว.คมนาคม เตรียมนั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ด "การบินไทย" วันศุกร์นี้ ประกาศดัน "พิชัย ชุณหวชิร" นั่งประธานบอร์ดฟื้นฟูธุรกิจ ยันไม่ซ้ำซ้อนบอร์ดบริหาร มอบอำนาจเทียบเท่า "ดีดี" เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาที่ทำให้แผนหยุดชะงัก ด้านรักษาการ "ดีดี" เผยเจรจา ธ.กรุงไทย-ธ.ออมสิน ขอกู้เงิน1.5 หมื่นล้าน เรียบร้อยแล้ว อ้างคืนหนี้ระยะสั้น
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันศุกร์นี้ (27 กุมภาพันธ์ 2552) ได้เตรียมการแต่งตั้งนายพิชัย ชุณหวชิร กรรมการบริษัท เป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งงานจะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการบริหาร
ทั้งนี้ นายพิชัย มีตำแหน่งในปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และยังดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการบริหารของการบินไทย ชุดปัจจุบันด้วย
มีรายงานว่า ในการประชุมวันศุกร์นี้ รมว.คมนาคม จะยังไม่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนบอร์ดในช่วงนี้ แต่จะรอจนถึงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งในระหว่างนี้จะมอบอำนาจให้นายพิชัย คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาร่วมอยู่ในคณะกรรมการ โดยพบว่า นายพิชัย จะมีอำนาจในการบริหารจัดการตามแผนฟื้นฟูแบบเบ็ดเสร็จ หรือเทียบเท่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
"ในเมื่อกรรมการไม่ลาออก ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการชุดใหม่เข้าไป ให้นายพิชัย เป็นผู้ดำเนินการแทนในการจัดการตามแผนฟื้นฟูทั้งหมดได้ เท่ากับอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่นายพิชัย และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยได้รับเงินกู้แก้ปัญหาสภาพคล่องได้แน่นอน ส่วนจะต้องให้กี่หมื่นล้านบาทเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้"
สำหรับผลการหารือกับนายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการท่องเที่ยวในภูมิภาค (Airport Hub) วานนี้ นายศรีสุขได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของการบินไทยในระยะยาว คือ ควรให้จัดหาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อมาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยมีเป้าหมายของกิจกรรมการหลักต่าง ๆ คือ 1.การจัดทำเส้นทางและเครือข่ายของการบินไทย รวมทั้งจะต้องพัฒนาเครือข่ายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และจะมีการวางกลยุทธ์ด้านการตลาดต่อไป
2.จัดทำ Due Diligence หรือข้อตกลงทางการเงินในระบบข้อมูลในรายละเอียด เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดแหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม เพื่อการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเงินระยะยาว 3.การเจรจายืดหนี้ รวมทั้งแผนการกู้เงินบางส่วนเพื่อการชำระคืนหน้าที่ถึงกำหนด หรือนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนบางส่วน และ 4.พัฒนาระบบออนไลน์ MIS (Management Infoormation System) ให้เกิดผลในการบริหารงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของการบินไทยให้สอดคล้องและสนับสนุนกันและกัน และพัฒนาไปในทิศทางและแนวทางในการบริหารธุรกิจการบินเดียวกัน
ขณะที่ พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สำนักเลขานุการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเตรียมขอกู้เงินจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท จาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสินจำนวน 5 พันล้านบาท ซึ่งได้ติดต่อไว้แล้ว เพื่อนำไปชำระคืนหนี้ระยะสั้น โดยต้องรอคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติแผนฟื้นฟูธุรกิจของบริษัทในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 นี้
"ตอนนี้ เราได้เจรจากับแบงก์กรุงไทย และแบงก์ออมสิน เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะกู้เงินได้ หลังจากบอร์ดอนุมัติแผนฟื้นฟูธุรกิจ"
ส่วนเงินกู้จำนวน 6 หมื่นล้านบาท รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าในอนาคตบริษัทจะต้องใช้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำไปใช้อะไรและต้องกู้ตามจำนวนดังกล่าวหรือไม่