xs
xsm
sm
md
lg

ค่าเงินบาทร่วงต่ำสุดรอบ 9 เดือน ธปท.จับตาสัญญาณผลกระทบเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.จับตาค่าเงินบาททรุด อาจกระทบเงินเฟ้อ “ธาริษา” เตรียมนำเข้าทบทวน 27 ส.ค.นี้ เทรดเดอร์เชื่อ ธปท.เข้าแทรกแซงตลาด วันนี้ คาดเทขายดอลลาร์พยุงค่าบาท หลังพบสัญญาณความต้องการจากผู้นำเข้าพุ่ง ทั้งกลุ่มน้ำมัน-ทองคำ ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกร ประเมินเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ หลังหลุด 34 บาท/ดอลลาร์ ต่ำสุดรอบ 9 เดือน

วันนี้ (20 ส.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาในช่วงนี้ โดยระบุว่า ธปท.ได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 27 ส.ค.นี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำเรื่องค่าเงินบาทอ่อนเข้าไปพิจารณาว่าจะมีผลต่อเงินเฟ้อหรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามปกติในการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย ส่วนค่าเงินบาทในปัจจุบันนี้ถือว่าผันผวนหรือไม่นั้น ธปท.ให้การดูแลอย่างดีอยู่แล้ว

นางธาริษา ระบุว่า เมื่อถึงเวลาก็คงต้องมีการประเมินทั้งหมด ซึ่งปกติการประชุม กนง.เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีการพิจารณาเรื่องค่าเงินบาทอยู่แล้ว

โดยเช้าวันนี้ นักค้าเงิน (เทรดเดอร์) ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เชื่อว่า เปิดเผยว่า ธปท.ได้เข้ามาแทรกแซงตลาด โดยขายเงินสกุลดอลลาร์เพื่อพยุงค่าเงินบาทในตลาด วันนี้

“ผมคาดว่า ธปท.เข้ามาแทรกแซงที่ใกล้ระดับ 34.15 บาท/ดอลลาร์ พร้อมระบุว่า ตลาดได้เห็นความต้องการดอลลาร์ของกลุ่มผู้นำเข้าช่วงเช้านี้ โดยเฉพาะจากบริษัททองและน้ำมัน อย่างไรก็ดี เงินบาท/ดอลลาร์ ก็ยังคงอ่อนค่าต่ำสุดที่ 34.16 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว”

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยว่า การเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ในวันนี้ ได้อ่อนค่าลงหลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปลายปี 2550 ที่เงินบาทอยู่ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากถูกกดดันจากแรงซื้อเงินดอลลาร์อย่างหนัก และต่อเนื่องของธนาคารต่างชาติในประเทศและผู้นำเข้า เนื่องจากเป็นช่วงใกล้สิ้นเดือน แต่การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค หลังจากความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะสั้นเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องโดยมีแนวรับ ที่ระดับ 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยยังมีปัจจัยกดดันเงินบาทต่อเนื่อง ทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินสกุลหลักเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ หลังเศรษฐกิจประเทศหลักๆ ทั้งยุโรปและญี่ปุ่น เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว จึงอาจทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าอาจสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบต่อภาคส่งออกของไทยที่กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายประเทศ อาทิ อาเซียน ยูโรโซน ญีปุ่น และสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่ผลของแรงกดดันต่อระดับราคาในประเทศอาจไม่สูงมากนัก เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินบาท เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกันกับแนวโน้มการปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันในตลาดโลก

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียที่ถูกมองว่าอาจจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันไปลงทุนประเทศอื่นที่ให้ ผลตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะสถาบันการเงินในสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังยืดเยื้อ ยังสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้คงต้องจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะการเคลื่อนไหวของเงินบาทดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุน นอกเหนือไปจากผลกระทบที่มีต่อผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น