xs
xsm
sm
md
lg

‘ต่างชาติ’เทขายทำเงิน‘อิเหนา’ร่วงหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – เงินสกุลรูเปียะห์ ของอินโดนีเซีย สามารถดีดกลับขึ้นมาจากที่ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดในช่วง 7 ปีครึ่งเมื่อวานนี้ (28) หลังจากประธานาธิบดีของประเทศออกมาสัญญาว่า จะช่วยประคับประคองค่าเงินของประเทศ ซึ่งถูกกระทบหนัก จากการที่นักลงทุนต่างชาติพากันทิ้งตลาดการเงินแดนอิเหนา ท่ามกลางวิกฤตการเงินทั่วโลก
เงินรูเปียะห์ช่วงที่ลงมาต่ำสุดๆ ในคราวนี้นั้น ร่วงถึง 9% อีกทั้งตลาดหุ้นจาการ์ตาก็ดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ท่ามกลางกระแสการผละหนีอย่างแตกตื่น ซึ่งจุดประกายขึ้นจากการที่มีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียออกมาอย่างรุนแรงโดยนักลงทุนต่างชาติ เพราะความวิตกที่ว่าอินโดนีเซียจะสามารถฝ่าฝันวิกฤตไปได้หรือไม่
ธนาคารกลางพยายามที่จะเข้าพยุงค่าเงินโดยการขายดอลลาร์สหรัฐฯออกมาในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แต่บรรดานักค้าเงินก็บอกว่าธนาคารกลางไม่สามารถจะดึงค่าเงินรูเปียะห์ให้กลับขึ้นมาได้จากระดับ 11,850 รูเปียะห์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2001 เป็นต้นมา
จนกระทั่งประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ออกมาให้คำมั่นว่าจะพยุงค่าเงิน ถึงแม้ไม่ได้ให้สัญญาเป็นรูปธรรมว่าจะทำอย่างไร จึงสามารถหยุดยั้งการร่วงหนักลงไปได้
“จากการที่เงินรูเปียะห์อ่อนลงแตะระดับ 11,000 เราจะวางนโยบายของเราออกมาตอบโต้ในวันนี้ในเรื่องเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว “สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือ การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการกับ (ประเด็นปัญหา) ในด้านปัจจัยพื้นฐานต่างๆ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นการดำเนินการในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน”
“มันจะกลายเป็นทำให้เกิดผลเสียขึ้นมาด้วยซ้ำ ถ้าหากการอ่อนตัวของรูเปียะห์เป็นเพราะปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ” ยุทโธโยโนบอก
พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็วมากถึง 35% ต่อปี เมื่อบวกกับการที่มีอัตราส่วนหนี้เสียสูงสุดแห่งหนึ่งของเอเชีย นั่นคือ 3.9% ของหนี้สินทั้งหมด ตลอดจนการที่ฐานะด้านดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณ ได้กลับตาลปัตรจากที่เคยได้เปรียบกลายมาเป็นเสียเปรียบ เหล่านี้ต่างเป็นสาเหตุที่ทำให้แดนอิเหนาถูกมองว่า เป็นเศรษฐกิจที่มีความอ่อนเปราะเกือบจะเป็นที่สุดของเอเชีย
“นักลงทุนต่างชาติจำนวนไม่น้อยต่างพากันชิงออกจากตลาดพันธบัตร ก่อนหน้านี้พวกเขาพากันขายตราสารหนี้ของธนาคารกลางที่เรียกว่า เซ็นทรัล แบงก์ เซอร์ทิฟิเคทส์ (เอสบีไอ) และตอนนี้ก็มาทำอย่างเดียวกันกับพันธบัตรอีก” แอนทอน กุนนาวาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ดานามอนกล่าว
ช่วงต้นปีนี้เงินรูเปียะห์ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพมาก เนื่องจากต่างชาติมีความต้องการพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียสูงมากเพราะให้ผลตอบแทนงาม แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเงินรูเปียะหหล่นลงไปเกือบ 14% จากการที่นักลงทุนระหว่างประเทศพากันขายทิ้งสินทรัพย์ในตลาดประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไป ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายคนงงงันในความรวดเร็วของการเทขายออกมา
“ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าเราพลาดอย่างจังที่ไปแนะนำให้นักลงทุน “เคลื่อนไหวอย่างคึกคักพอประมาณ” เกี่ยวกับเงินรูเปียะห์” สจ๊วร์ต นูนแฮม นักวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของมอแกน สแตนลียกล่าวในรายงานชื่อ มีอา คัลป้า
“ในขณะที่เราทุ่มความสนใจไปที่มหภาค แต่ความเสี่ยงด้านการธนาคารและนโยบายการเงินก็มีน้ำหนักต่อเงินเงินรูเปียะห์อินโดนีเซียด้วย พวกเรามองข้ามความเสี่ยงของการซื้อขายแบบคานดีดในเอสบีไอขนาดใหญ่รวมทั้งการถือครองพันธบัตรรัฐบาลโดยนักลงทุนต่างประเทศ”
กำลังโหลดความคิดเห็น