xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุนรัฐประกาศให้วิกฤตอาหาร-พลังงานเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสาหลักเอกชน 3 สถาบัน หนุนรัฐประกาศให้วิกฤตอาหาร-พลังงาน เป็นวาระแห่งชาติ คาด ราคาน้ำมันและสินค้ายังเป็นปัญหาระยะยาว สภาหอการค้าฯ ชี้ ต้นตอวิกฤตอาหารทั่วโลก เกิดจากการนำวัตถุดิบการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น หลังราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง พร้อมคาดยอดส่งออกสินค้าเกษตรไทย 6 เดือนแรกปีนี้ พุ่งกระฉูดแตะ 3 แสนล้าน โดยมีข้าวเป็นพระเอก

วันนี้ (23 เม.ย.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันอาหาร ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน พร้อมแนวโน้มในอนาคต โดยประกาศจุดยืนพร้อมสนันสนุนรัฐบาลในการประกาศให้วิกฤติอาหารและพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากราคาอาหารและสินค้าเกษตร รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะเป็นปัญหาระยะยาว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่วว่า องค์การเกษตรและอาหารโลก (เอฟเอโอ) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มี 37 ประเทศทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาอาหาร โดยราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมากถึงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยราคาอาหารในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8, สหรัฐ ร้อยละ 5, อังกฤษ ร้อยละ 5.7 และ จีน ร้อยละ 21 และคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าราคาอาหารจะเพิ่มอีก 20 เท่า

ดังนั้น ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารของโลก จึงถือเป็นโอกาสทองที่จะจำหน่ายอาหารในราคาที่สูงขึ้น และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการส่งออกที่ลดลง โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินการมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาหารไทยไตรมาสแรกปีนี้ มีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.6 ขณะที่มูลค่าส่งออกโดยรวม 165,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแนวโน้มส่งออกอาหารยังไม่สดใส เพราะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งคาดว่าเงินบาทไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าฯ กล่าวว่า สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้อาหารเกษตรมีราคาแพงทั่วโลก เนื่องจากผลผลิตและวัตถุดิบของสินค้าเกษตรไม่เพียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากในปัจจุบันราคาน้ำมันซึ่งเป็นพลังงานหลักมีราคาแพงและพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศจึงนำวัตถุดิบสินค้าเกษตรไปทำพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยขาดการเพาะปลูกที่เพียงพอในการอุปโภคและบริโภค จึงทำให้เกิดการขาดแคลนส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงจนกลายเป็นวิกฤตด้านอาหาร

นายพรศิลป์ ยังคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 โดยเชื่อว่า จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น หลังอัตราการแลกเปลี่ยนหรือค่าบาทแข็งค่ามากขึ้น

ในขณะที่ปริมาณการส่งออกโดยรวม อาจมีแนวโน้มลดลง โดยไตรมาส 1/2551 คาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน มูลค่า 165,110 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกลดลง 1.6% แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ส่วนในไตรมาส 2/2551 คาดว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจะมีปริมาณ 6.4 ล้านตัน มูลค่า 154,154 ล้านบาท ปริมาณลดลง 13.2% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 1.5% โดยการส่งออกข้าวและน้ำตาลจะเป็นสินค้าสำคัญต่อการลดลงของปริมาณส่งออก แต่ยังมีการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สภาหอการค้าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคาดว่า ราคาอาหารและสินค้าเกษตรจะยังคงมีราคาสูงอย่างต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะโลกจะอยู่ในช่วงขาดแคลนอาหารอันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่ต่อเนื่องกัน ทั้งกำลังซื้อภายในประเทศ ต่างประเทศ ที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งการแข็งค่าของค่าบาท อีกทั้งภาคการผลิตประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาแพง

นายพรศิลป์ ระบุว่า สินค้าข้าวจะยังคงเป็นสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด โดยคาดการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรข้าวไตรมาส 1/2551 มีปริมาณ 2.8 ล้านตัน มูลค่า 39,797 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้น 60% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 75.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ในขณะที่ไตรมาส2/2551 คาดว่าการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือประมาณ 2 ล้านตัน จากไตรมาสแรก เนื่องจากสต็อกข้าวในประเทศมีปริมาณจำกัด ซึ่งผู้ส่งออกส่วนหนึ่งชะลอการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถจัดหาข้าวส่งมอบได้จากภาวะราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่และสัตว์ปีก ไตรมาส 1/2551 คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออก 100,300 ตัน มูลค่า 11,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.4% มูลค่าเพิ่มขึ้น 25.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2550 ส่วนไตรมาส 2/2551 การส่งออกไก่และสัตว์ปีกคาดว่าจะมีปริมาณ 94,229 ตัน มูลค่า 10,927 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้น 13.1% มูลค่าเพิ่มขึ้น 19.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550

ส่วนผักและผลไม้คาดการณ์ส่งออกไตรมาส 1/2551 จะมีปริมาณ 560,306 ตัน มูลค่า 17,916 ล้านบาท ปริมาณลดลง 3.7% แต่มูลค่าเพิ่ม 6.82% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2550 ในขณะที่คาดการณ์ไตรมาส 2 จะส่งออกผักและผลไม้ได้ 675,682 ตัน มูลค่า 19,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% มูลค่าเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2550

ทั้งนี้ สภาหอการค้าฯ ยังเห็นว่า ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตด้านอาหารอันเป็นผลมาจากราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารชั้นนำของโลก และสามารถจำหน่ายอาหารในราคาที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าและชดเชยรายได้ที่หายไปจากการส่งออกที่ลดลงได้ อาจทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้
กำลังโหลดความคิดเห็น