หอการค้าฯ ชี้เงินบาทแข็ง อาจส่งผลค่าส่งออกติดลบ 1.9% กระทุ้งภาครัฐ เร่งอุ้มภาคเกษตร-อาหาร คาดแนวโน้มปีนี้ หากแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบจะรุนแรง อาจถึงขั้นแห่ปิดกิจการทิ้ง ส.อ.ท.เตือนรัฐบาลใหม่จับตาปัจจัยเสี่ยงทั้ง ปัญหาค่าเงิน น้ำมันแพง และซับไพรม์ ฉุดเศรษฐกิจปี 2551 พร้อมเรียกร้องเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจคต์ และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ช่วยฟื้นการลงทุนภาคเอกชนให้ปรับตัวดีขึ้น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ได้ร่วมกันแถลงถึงสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหาร หลังจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แม้ความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาก จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ลดลงเหลือ 7.2% หรือคิดเป็น 66,400 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 9.9%
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกได้มีการคาดการณ์กันว่า ถ้าหากค่าเงินบาทในปีนี้ แข็งไปจนถึง 32.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกจะลดลงเหลือ 4.6% และกรณีที่เลวร้ายที่สุด ที่ค่าเงินแข็งค่าถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกจะถึงขั้นติดลบ 1.9%
ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลปัญหาความผันผวนของค่าเงิน โดยไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็วจนเกินไป เพราะผู้ส่งออกจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยในขณะนี้ผู้ส่งออกขาดทุนเป็นจำนวนมาก และหากถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะต้องมีการปิดกิจการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทบต่อการผลิต และภาคเกษตรกร ตามมา
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตร และอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกได้พยายามปรับตัวหาตลาดใหม่เพิ่ม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย โดยค่าเงินกลับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะผู้ส่งออกทำได้เพียงชะลอการผลิต และการส่งออก เพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลบริหารการเงิน ที่ไหลเข้ามาในประเทศให้มีความสมดุล โดยนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศให้มากขึ้น ซึ่งประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาค่าเงินแข็ง ก็ใช้วิธีบริหาารจัดการเช่นนี้ เพื่อไม่ให้ค่าเงินนั้นแข็งขึ้นรวดเร็วจนเกินไป
นางวิไล เกียรติศรีชาติ กรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า นอกเหนือจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผู้ส่งออกยังต้องเตรียมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของกลุ่มสหภาพยุโรป เพิ่มความเข้มงวดการควบคุมดูแลมาตรฐานด้านการผลิต และสิ่งแวดล้อมของสินค้าที่นำเข้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยประสบความยากลำบากมากขึ้น
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2551 โดยเห็นว่าปัจจัยหลักที่จะกระทบเศรษฐกิจปีนี้ เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ คือปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนปัจจัยภายใน คือ ค่าครองชีพของประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และการแย่งชิงพืชที่นำมาใช้เป็นอาหาร และใช้เป็นพลังงานทดแทน หากมีการจัดสรรทรัพยากรไม่ดีอาจจะมีปัญหา
นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้ให้ สศช.เป็นหน่วยงานกลาง ในการรับเรื่องเพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ โดยเอกชนได้ขอให้เร่งการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม (เซาเทิร์น ซีบอร์ด) และการปฏิบัติตามแผนงานโลจิสติกส์ รวมถึงการขยายระยะเวลากองทุนช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท 4,500 ล้านบาท และกองทุนสำหรับเอสเอ็มอี ที่มีปัญหาด้านการเงินและอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ 500 ล้านบาท ออกไปถึงสิ้นปี 2551 ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนหารือกันไม่มาก เพราะเป็นเรื่องที่ต้องมีรายละเอียด
นายประมนต์ กล่าวว่า หอการค้าไทยมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่หอการค้าไทยจะนำนโยบายของรัฐบาลใหม่มาพิจารณา เพื่อเสนอความคิดให้กับรัฐบาล ถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
**จี้รัฐเดินหน้าเมกะโปรเจคกระตุ้นลงทุน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้เดินหน้าโครงการเมกะโปรเจคไปแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีอื่นคงมีผลไม่มาก
ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่จะเดินหน้าลงทุนเมกะโปรเจคได้ช้าหรือเร็ว ถ้ารัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ จะเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการลงทุน และการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะขยายตัวตามเศรษฐกิจ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สศช.รับหน้าที่ที่จะนำข้อเสนอต่างๆ ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง การขยายเงินกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีและการเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจค สศช.ยังได้รายงานว่าเศรษฐกิจปี 2551 จะขยายตัว 4-5 % ส่วนปี 2550 อาจจะขยายตัว 4.7% หลังจากที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ขยายตัว 5.5% ส่วนค่าเงินบาทเห็นว่าทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดูแลค่าเงินบาท ให้มีเสถียรภาพและไม่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ส่วนผู้ส่งออกก็ได้ปรับตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น การหันมาใช้เงินยูโร เยน
**ค่าเงินแข็งค่าสวนทางอันดับไทยร่วงติดต่อกัน 2 ปี
นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจภาพรวมหลายประเด็น โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สวนทางกับอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ลดลงติดต่อกัน 2 ปี การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางราง เช่น รถไฟรางคู่ ที่ยังดำเนินการได้ล่าช้ามาก รวมถึงต้องเร่งปรับปรุงกฎและระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน
"ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน แต่ในความเป็นจริงค่าเงินบาทไม่ควรแข็งค่ามากเท่านี้ หากดูจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของโลกพบว่าอันดับของไทยลดลงมา 2 ปีต่อเนื่อง ดูแล้วมันสวนทางกัน"
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ที่ต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาการขนส่งทางน้ำและทางรางเพิ่มขึ้น แต่ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ให้เห็นผลได้ชัดเจนแค่ไหน
**ชี้ 3 ปัจจัยท้าทายรัฐบาลชุดใหม่
นายดุสิต กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ทั้งสามปัจจัยถือเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ปัญหาต่อไป ขณะที่คุณสมบัติของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนต้องการเห็น คือ ต้องมีความสามารถ มีความซื่อสัตย์ และมีความตั้งใจที่จะดูแลผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. คาดว่าเศรษฐกิจปี 2550 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% เนื่องจากตัวเลขในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเกิน 5% ถือว่าเป็นระดับที่ดีเกินคาด เนื่องจากการส่งออก 2 เดือนสุดท้ายขยายตัวเกิน 20% ส่วนเดือนธ.ค. 2550 ตัวเลขนักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2551 สศช.ได้เสนอให้มีการขับเคลื่อนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย ให้เป็นไปตามที่ครม.อนุมัติและเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการจัดหาพื้นที่ลงทุนใหม่หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่าที่ประชุมเป็นห่วงว่าปีนี้จะเกิดปัญหาแย่งพืชมาเป็นอาหารและพลังงานทดแทน จึงต้องมีการหาจุดสมดุลที่เหมาะสม โดยปี 2551 จะต้องมีการผลักดันให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลปัจจัยที่กระทบกับเศรษฐกิจ และสศช.ได้ตั้งสำนักงานประสานงานการดำเนินตามแผนปรับปรุงโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อเร่งให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเซาเทิร์น ซีบอร์ด เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และต้องมีการสร้างความมั่นใจจาการลงทุนภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟรางคู่