xs
xsm
sm
md
lg

ชี้บาทแข็ง18%รอบ2ปีแนะรัฐตั้งกองทุนช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-หอการค้าไทยประเมินเงินบาทไทยในรอบ 2 ปี พบแข็งค่าขึ้น 18.55% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย จีน เวียดนาม ส่งผลให้ไทยแข่งขันลำบาก แนะรัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือ ชี้โอกาสบาทแข็งถึง 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐมีแน่ ด้านม.หอการค้า ประเมินส่งออกปีนี้ โตเหลือ 12.82% เหตุเจอพิษซับไพร์มป่วนเศรษฐกิจโลก หวั่นมีโอกาสหดเหลือ 10.78% หากซับไพร์มลุกลาม
นายชัยนันท์ อุโฆษกุล รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบอัตราเงินบาทแข็งค่ากับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคช่วง 2 ปี (9 ม.ค.2551 เปรียบเทียบ 3 ม.ค.2549) พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 18.55% มากกว่าค่าเงินหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ค่าเงินแข็งค่า 13.39% ค่าเงินหยวนจีน 9.85% และเวียดนาม ซึ่งค่าเงินติดลบ 2.29% ทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ยาก

ทั้งนี้ การที่ผู้ส่งออกไทยขายเงินดอลลาร์ออกมาขณะนี้ เพราะจำเป็น โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้องการเสี่ยงกับทิศทางเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ดังนั้นหากรัฐต้องการให้มีการชะลอการระบายเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ควรหามาตรการมารองรับผลกระทบ เช่น การตั้งกองทุนที่จะสนับสนุนผู้ส่งออกให้สามารถถือเงินดอลลาร์ได้นานขึ้น หรือตั้งหน่วยงานเฉพาะที่จะดูแลปัญหาตรงนี้

“โอกาสที่จะได้เห็นเงินบาทแข็งค่า 32.5 บาท/เหรียญสหรัฐ มีแน่และเร็วๆนี้ด้วย เพราะถ้าไม่เข้ามาทำอะไร แต่กลับให้ผู้ส่งออกอย่าขายเงินดอลลาร์ เชื่อว่าก็คงเป็นไปยาก” นายชันนันท์ กล่าว

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้แบ่งการคาดการณ์ภาวะการส่งออกสินค้าไทยปี 2551 ออกเป็น 3 ระดับ โดยสมมุติฐานแรกที่มีโอกาสเป็นไปได้มากสุด คือ การส่งออกมีมูลค่า 1.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.82% หรือเติบโตลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 18.09% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.61 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.85% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 9.49% ทำให้ไทยยังคงได้ดุลการค้าในปี 2551 มูลค่า 1.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่เป็นมูลค่าลดลงจากปีก่อนที่ได้ดุล 1.22 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่การส่งออกชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในระดับ 3.3% ต่ำกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 3.9% และผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง 1% จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวลดลง 1.9% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะขยายตัวเพียง 1.9% ญี่ปุ่น 1.8% และสหภาพยุโรป 2.0% ส่วนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 2.95% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33.5 บาท/เหรียญสหรัฐ เนื่องจากปัจจัยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลกระทบจากรระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูง คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีราคาน้ำมันจะทรงตัวสูง 87.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

“การส่งออกจะเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 4.2-4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 2550 ที่มีมูลค่า 4.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ” นายอัทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าการส่งออกไทยอาจจะขยายตัวลดลงมากกว่านี้ หรือเป็นไปตามสมมุติฐานที่สอง ซึ่งเป็นการคาดการณ์ส่งออกในระดับแย่สุด โดยการส่งออกจะมีมูลค่า 1.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.78% เนื่องจากปัญหาสินเชื่ออสังหาคุณภาพต่ำในสหรัฐ (ซับไพร์ม) ลุกลามเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินทั่วโลก ทำให้มีโอกาสที่ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่าขึ้นมาหลุดกรอบ 32.5 บาท/เหรียญสหรัฐ และระดับราคาน้ำมันสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยเศรษฐกิจคู่ค้าไทย เช่น สหรัฐ จะขยายตัวลดลงเหลือ 1.5% ญี่ปุ่น 1.4% และสหภาพยุโรป 1.8%

ส่วนสมมุติฐานที่สาม ซึ่งเป็นไปได้น้อยมาก คือการส่งออกขยายตัวระดับ 14.72% มูลค่า 1.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเกิดขึ้นได้หากสหรัฐฯ แก้ไขปัญหาซับไพร์มได้สำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวระดับ 2.2% ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ปรับอัตราการขยายตัวให้สูงขึ้นด้วย ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.5 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันอยู่ระดับ 77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น