xs
xsm
sm
md
lg

นานาทัศนะของจีนในปีหนูทอง (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับทัศนะที่มีต่อประเด็นร้อนต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาของจีน รวมทั้งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของจีน

คำถาม : ในรอบปีที่ผ่านมาจีนมีประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่ไทยน่าจะทบทวนศึกษาเป็นแบบอย่าง

ปี 2550 จีนมีความเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่องหลักๆ คือ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

1. ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ในปีที่ผ่านมาจีนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ คือการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 17 ซึ่งได้วางตัวผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองมากเป็นพิเศษ เพราะรู้ว่าการเมืองกับเศรษฐกิจเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ถ้าการเมืองไม่ดี โอกาสที่จะกระทบกับเศรษฐกิจก็มีมาก ในขณะเดียวกันถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง

ฉะนั้น ถึงแม้จีนจะปกครองโดยระบบพรรคเดียว ที่มักถูกตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่ใช้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า จีนสามารถบริหารจัดการทางการเมืองได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สากล ว่าระบบการเมืองจีนอย่างน้อย 4-5 ปีข้างหน้ามีความชัดเจนระดับหนึ่ง และใครจะเป็นผู้นำรุ่นต่อไป ซึ่งช่วยลดความอึมครึมทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไทยควรเรียนรู้ เพราะตอนนี้ไทยเรามีปัญหาในการบริหารจัดการทางการเมืองมาก ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่าประสิทธิภาพทางการเมือง การบริหารการเมืองจะดีขึ้น และถ้าเราเสียศูนย์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจเหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็น่าเป็นห่วงเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่ง

เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เปราะบาง มีทั้งตัวแปรภายในและภายนอกประเทศสุมรุมเข้ามา เรียกว่าเป็นปัญหาแบบ 2 จังหวะที่เราอาจต้องเผชิญในปี 2551 นี้ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องตระหนักและใส่ใจเป็นพิเศษ ว่าจะบริหารเพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพทางการเมืองได้อย่างไร โดยเฉพาะการบริหารความขัดแย้งในแวดวงการเมือง อย่าไปคิดว่า การเลือกตั้งเพียงแค่ประชาชนหย่อนบัตรให้ฉันทานุมัติแล้ว แสดงว่าตัวเองจะต้องมีสิทธิมากมาย

นักการเมืองไทยต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางการเมืองในระยะยาว โดยควรดูแบบอย่างจากจีน คือ เราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางการเมืองอย่างไร เพื่อนำไปสู่การลดทอนความขัดแย้ง และสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

คำถาม : แต่อาจมีหลายฝ่ายแย้งว่า เป็นเพราะจีนเป็นพรรคคอมมิวนิสต์จึงบริหารจัดการได้ง่าย

ความจริงพรรคการเมืองพรรคเดียวไม่จำเป็นต้องบริหารจัดการได้ง่ายเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับทักษะการบริหารและผู้นำเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรค ถ้าเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งแล้ว ย่อมยากมากที่จะบริหารประเทศชาติให้บรรลุเป้าหมาย ยิ่งพรรคเดียวยิ่งเปราะบาง ถ้าพรรคนั้นเห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเอาผลประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง ย่อมต้องมีปัญหาและล่มสลายได้ง่ายกว่าการเมืองหลายพรรค ฉะนั้น เป้าหมายในการบริหารจัดการว่าเพื่อใครและอย่างไรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2. ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนในรอบปีที่ผ่านมา มีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ด้านบวกคือ เศรษฐกิจจีนยังเป็นแชมป์โลกด้านการเติบโตของจีดีพี โดยการส่งออกโตกว่า 20% ตลอดจนการลงทุนโดยตรง โดยดูจากตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเกือบ 27% แสดงว่าการลงทุนในจีนยังร้อนแรง มีสัดส่วนกว่า 40%ของจีดีพีประเทศ ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ราว 24% สหรัฐอเมริกา 20% และอียูเพียง 10%กว่าเท่านั้น ซึ่งเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตต่อเนื่อง

ด้านลบคือ จีนมีหลายตัวแปรที่แสดงให้เห็นว่าสวนกระแสโลก คือสวนกระแสสหรัฐฯ ที่เสียสูญทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งภาคเศรษฐกิจจริงหรือแม้แต่ภาคการเงินที่เคยใหญ่โตเข้มแข็ง ขณะที่จีนกลับบริหารจัดการภาคเศรษฐกิจจริง ไม่ว่าการส่งออก การค้า และภาคการเงินได้ค่อนข้างดี แม้จะมีสัญญาณเงินเฟ้อ ฟองสบู่ การลงทุนที่ร้อนแรง และปัจจัยคุกคามในแง่ลบ

อย่างไรก็ตาม จีนน่าจะมีบทเรียนจากประเทศอื่นที่เคยใช้วิธีบริหารระบบเศรษฐกิจตลาดมาก่อน เพราะถ้าจีนมีปัญหาฟองสบู่แตกรุนแรง ย่อมต้องกระทบกับโลกมากมาย ตอนนี้สหรัฐฯ ก็มีปัญหา อียูก็ส่อเค้าจะมีปัญหา ขณะเดียวกันปีหน้าญี่ปุ่นจะมีปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นอีก ฉะนั้น ถ้าจีนมีปัญหาอีก ย่อมต้องส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ในทัศนะของอ.สมภพมองว่าปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นจาก 2 ตัวแปร ด้านหนึ่งเกิดจากการที่จีนเป็นแม่เหล็กใหญ่ในการดึงดูด ‘เงินทุนโลกาภิวัฒน์’ เพราะรู้ว่าจีนมีโอกาสเติบโตทางภาคการเงินอีกมาก เงินทุนไร้พรมแดนจึงหลั่งไหลเข้าไปจีนมาก ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่เสียสูญจากเงินทุนที่หมุนไร้ทิศทางไปตามแหล่งเก็งกำไรต่างๆ ทั้งตั๋วน้ำมัน ตั๋วทองคำ ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตลาดตราสารหนี้ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน จีนเองก็บริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคอย่างค่อนข้างอนุรักษ์เกินไป เช่นบริหารจัดการฟองสบู่โดยวิธีปรับอัตราดอกเบี้ยและทุนสำรองธนาคารเท่านั้น ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอ

ดังนั้น ปี 2551 จีนคงไม่แคล้วที่จะต้องปรับขึ้นค่าเงินหยวนอีก เพราะจีนน่าจะเล็งเห็นว่า ถ้าแข็งขืนต่อไป ด้านหนึ่งจะเป็นตัวแปรให้ต้องเผชิญหน้าคู่แข่งเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะปีหน้าสหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะกดดันจีนมากขึ้น ประเด็นจีนจะกลายเป็นตัวแปรทางการเมืองที่แหลมคมขึ้น ถ้าจีนไม่ปรับตัว จะกลายเป็นแพะทางการเมือง ที่ทำให้มหาอำนาจนำไปเล่นเกมได้

จีนจึงควรใช้เงื่อนไขและโอกาสนี้ ในการยิงกระสุนนัดเดียวให้ได้นกหลายตัว คือลดทอนการกดดันจากอภิมหาอำนาจโลก และใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการฟองสบู่จีนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าหลังโอลิมปิก 2008 จีนจะสามารถจัดการฟองสบู่ได้หรือไม่ เพราะคาดการณ์กันว่าจีนจะไม่ย่อมปล่อยให้ฟองสบู่จีนแตกก่อนได้เป็นเจ้าภาพอย่างแน่นอน แต่หลังจากนั้น ความเชื่อมั่นในการเก็งกำไรจะถูกสั่นคลอน ซึ่งถือเป็นช่วงที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน

คำถามจึงอยู่ที่ว่า จีนจะบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคก่อนโอลิมปิกได้อย่างไร เพื่อให้มีเครื่องมือควบคุมฟองสบู่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าปีที่ผ่านมา มิเช่นนั้น หลังโอลิมปิกนักลงทุนบางกลุ่มอาจพิจารณาลดทอนการลงทุนในจีน เช่น เทขายหุ้นทิ้ง การปรับขึ้นค่าเงินหยวนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจับตาคือ จีนจะบริหารจัดการผลลบหลังปรับขึ้นค่าเงินหยวนอย่างไร เพราะย่อมต้องกระทบการส่งออก แต่ขณะเดียวกันจะเป็นทำให้นำเข้าพลังงานและวัตถุดิบได้ถูกลง ทั้งยังสามาถลดทอนการไหลทะลักของเงินทุนต่างประเทศ ที่เข้าไปเก็งกำไรจากค่าเงินหยวนที่อ่อนกว่าที่อื่น

ดังนั้น จีนน่าจะเรียนรู้การหาประโยชน์จากการปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น เช่นบริหารการนำเข้า และรุกออกไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยเรียนรู้จากประเทศที่มีประสบการณ์มาก่อนอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ไต้หวัน ซึ่งจีนจะต้องมุ่งสู่สากลมากยิ่งขึ้น ทั้งในภาคเศรษฐกิจจริง (การค้าการลงทุน) และภาคการเงิน

คำถาม : ปี 2551 ไทยจะรับมือการเปลี่ยนแปลงของจีนอย่างไร

กล่าวได้ว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา จีนมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจโลกให้ไปได้ดี แต่ต่อไปนี้จีนจะไม่มีบทบาทมากเท่าที่ผ่านมา เพราะจีนจะชะลอการนำเข้าลง อันเป็นผลจากถูกกีดกันการส่งออก เพราะถูกจู่โจมด้วยปัญหาคุณภาพสินค้า รวมทั้งจีนต้องลดการอุดหนุนการส่งออก ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับคู่ต่อสู้ อันจะทำให้จีนมีต้นทุนการส่งออกที่มากขึ้น เพราะต้องปรับปรุงคุณภาคมาตรฐานสินค้า เมื่อรวมกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ต่อไปนี้สินค้าจีนจะไม่ใช่ประเทศที่เน้นขายของถูกอีกต่อไป ซึ่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อประเทศไทย

ข้อดี คือสินค้าที่เคยเพลี้ยงพล้ำเสียทีจีนไป เช่น กลุ่มสิ่งทอ เสื้อผ้า ของเด็กเล่น และเฟอร์นิเจอร์ อาจจะมีโอกาสแข่งขันอีกครั้ง แต่ไทยก็ต้องตระหนักในคุณภาพสินค้าเช่นกัน เพราะย่อมต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับที่นานาประเทสใช้เล่นงานจีน

ข้อเสีย คือที่ผ่านมาจีนนำเข้าชิ้นส่วน วัตถุดิบ และพลังงานมาก ทำให้การส่งออกทั่วโลกขยายตัว อันทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นด้วย แต่ทันทีที่จีนลดทอนการนำเข้า เนื่องจากชะลอการส่งออก และลดสัดส่วนเกินดุลการค้าประเทศอื่น จะก่อให้เกิดอาการถอยร่นของการส่งออกทั่วโลกที่เคยส่งออกไปจีนมาก ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะนำเข้าจากไทยน้อยลง รวมทั้งไทยก็จะส่งออกไปยังจีนโดยตรงน้อยลงด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปี 2551 ไทยจะหวังพึ่งพาการส่งออกเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยลง อันเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น