xs
xsm
sm
md
lg

จาก “กี่เพ้า” ถึง “ทูพีช”: เซ็กซ์! การท้าทายอำนาจพคจ.

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

เพราะเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง และเรื่องส่วนตัวอย่างเรื่องเพศ! ก็เป็นสิ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง-สังคม เราจำต้องขุดคุ้ยพินิจแง่มุมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองจีนผ่านกรอบความคิดเรื่องเพศด้วย เพื่อให้เกิดการมองความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน
กึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จีนมีความเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมและการเมืองอย่างก้าวกระโดด ราวหน้ามือกับหลังเท้า นักวิชาการด้านจีนศึกษาและ ผู้สนใจเรื่องจีนต่างพยายามสร้างอรรถาธิบายความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม-การเมืองจีน ผ่านปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะการเปิดตัวสู่โลกภายนอก ด้วยนโยบายเปิดและปฏิรูประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง และการปะทะสังสรรค์ระหว่างจีนกับโลกาภิวัตน์

ทว่าอรรถาธิบายเหล่านั้น ล้วนเน้นผูกขาดศูนย์กลางของการดำเนินเรื่องอยู่ที่ รัฐาธิปัตย์ และความเป็นรัฐในระดับผู้นำ ส่วนเรื่องของประชาชน คนแคระตัวเล็กๆนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกลืม ประหนึ่งว่ามิได้เป็นส่วนหนึ่งของชาติ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวของประชาชนที่สะท้อนถึงการต่อสู้ทางการเมืองคือ SEX

ในมิติหนึ่ง เรื่องเพศ! เป็นสิ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง-สังคมในจีนได้อย่างชัดเจน ทว่ากลับถูกมองข้าม ละเลย ด้วยความตั้งใจบางอย่าง ฉะนั้นเพื่อทำหน้าที่ของนักจีนศึกษาที่ดี เราจำต้องขุดคุ้ยพินิจแง่มุมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองจีนผ่านกรอบความคิดเรื่องเพศด้วย เพื่อให้เกิดการมองความเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน

ช่วงอุดมการณ์ปฏิวัติเข้มข้นสมัยประธานเหมา เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพูดถึงและถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทว่าหลังจีนเปิดประเทศเรื่องเพศค่อยๆกลายเป็นเรื่องที่ถูกเปิดเผยมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ (หากไม่เชื่อลองสังเกตจากการแต่งกายของวัยรุ่นว่า เปิดเผยมากขึ้นแค่ไหน!) หลายฝ่ายต่างโทษว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมร้ายจากตะวันตกทำให้วัยรุ่น ลูกหลานประธานเหมาประพฤติตัวเสื่อมเสียหมด จะว่าไปคิดแบบนี้ก็ถูกอยู่หรอก แต่เป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินมากๆ ทำไมเรื่องเพศจึงกลายเป็นเรื่องที่เปิดเผยมากขึ้น? แม้รัฐจะยังควบคุมอยู่ แต่ทำไมประชาชนมังกรกลับเปิดเผยเรื่องเพศ ซึ่งครั้งหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และน่าอายที่จะพูด หรือแสดงกิจกรรมทางเพศในที่สาธารณะ หรือบางทีการเปิดเผยเรื่องเพศดังกล่าวเป็นการมุ่งประท้วงและโค่นล้มอำนาจรัฐ? เพราะอิสรภาพส่วนบุคคลเริ่มต้นที่บนเตียง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อิสรภาพบนเตียงนำไปสู่อิสรภาพทางการเมือง!

ปลายสมัยราชวงศ์ชิง ถึงยุคสาธารณรัฐ สตรีจีนสามารถสวมชุดกี่เพ้า (ฉีเผา) อวดส่วนสัดแต่งหน้าทาปาก หรือแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่โอดโฉมโนมเนื้อได้อย่างเสรีระดับหนึ่ง ทว่านับแต่พรรคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของประธานเหมาสามารถสถาปนาอำนาจเหนือแผ่นดินจีน อิสรภาพทางเพศดังกล่าวถูกจำกัดอย่างเข้มงวด เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องต้องห้าม หากใครคิดแผลงแสดงบทรักในที่สาธารณะก็มีสิทธิซวย ถูกส่งเข้าค่ายแรงงานได้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) ฉีเผาถูกตราหน้าว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมคร่ำครึ ซึ่งสมควรถูกขจัดให้หมดไปจากแผ่นดินจีน1 โดยเฉพาะยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น อะไรก็ตามที่เบี่ยงเบนไปจากสังคมนิยมล้วนเป็นสิ่งที่ต้องถูกกำจัดและควบคุม การสวมฉีเผา การแต่งหน้าทาปาก สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์อวดส่วนสัดแบบตะวันตกจึงเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นบาปที่ต้องถูกควบคุมและกำจัด
20 มกราคม 2004 สำนักข่าวบีบีซีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากเซี่ยงไฮ้เดลี่ว่า เหว่ยกัง และแฟนสาวของเขา ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากอดีตโรงเรียนมัธยมของเขา เนื่องจากทางโรงเรียนแอบถ่ายวีดีโอ ระหว่างที่ทั้งคู่จูบกัน แล้วนำเผยแพร่โดยกล่าวหาว่าเป็น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การลุกขึ้นมาฟ้องร้องดังกล่าวสะท้อน การลุกขึ้นต่อต้านอำนาจครอบงำร่างกาย และเพศ
SEX บาปที่ต้องควบคุม

ในช่วงที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์เข้มข้นนั้น เรื่องเพศ และร่างกายของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของประธานเหมา เน้นให้แต่ละคนมีจิตใจรับใช้ประชาชน เป็นลูกที่ดีของพรรคคอมมิวนิสต์ สานต่ออุดมการณ์ปฏิวัติ พร้อมเสียสละทุกสิ่ง รวมทั้งเรื่องส่วนตัวเพื่ออุดมการณ์ปฏิวัติ ฉะนั้นเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องที่ต้องถูกควบคุม เป็นภัยและสิ่งที่น่าหวาดกลัวสำหรับอุดมการณ์ปฏิวัติ เพราะการเสพสุขทางเพศ เน้นความสุขที่ปัจเจกบุคคลพึงได้รับ จากความเป็นส่วนตัว(private space) ความสุขทางเพศก่อให้เกิดความรัก ความเป็นส่วนตัว รวมทั้งโลกที่แยกออกจากสังคมสาธารณะ (public space) คู่รักอาจทุ่มเวลาและพลังงานไปกับการประกอบกิจส่วนตัว ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ปฏิวัติ ที่เน้นสังคมและหมู่คณะ เรื่องเพศจึงเป็นการท้าทายอำนาจรัฐที่ต้องถูกควบคุม2

ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ร่างกายของเพศหญิงเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทรงผม อาภรณ์ และกิริยาต่างๆ ล้วนถูกควบคุม ผมต้องสั้น เสื้อผ้าที่ใส่ต้องเป็นสีโทนมืด ทึนทึบเช่นเดียวกับบุรุษเพศ กิริยาท่าทางความเป็นหญิงถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้าสมัย การออกมาสวมชุดยามพิทักษ์แดง เคลื่อนไหวทางการเมือง รับใช้อุดมการณ์ปฏิวัติ อย่างห้าวหาญเช่นบุรุษเพศ ถูกขับเน้นว่าเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของหญิงที่ดี การสวมใส่เสื้อยืดแขนสั้น กางเกงยีนส์รัดรูป หรือรองเท้าแฟชั่น ซึ่งขับเน้นความเป็นหญิงจะถูกลงโทษ โดยยามพิทักษ์แดงจะทำการตัดเสื้อและรองเท้านั้นทิ้งเสีย หากสตรีใดไว้ผมยาวปะบ่าอาจเผชิญกับการถูกโกนหัวเสียครึ่งหนึ่ง3

เหมาเจ๋อตงเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเพศชาย-หญิงให้เหลือเพียงสหายปฏิวัติ จับชายและหญิงสวมชุดแบบเดียวกัน เพื่อทำลายพรมแดนความแตกต่างทางเพศ การเริงรักเสพสังวาสเพื่อบรรลุความสุขถูกปฏิเสธ และถือว่าเป็นบาป การร่วมรักจะกระทำได้ก็เพียงจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อการผลิตแรงงาน

ดร.พันสุยหมิง ศ.ด้านสังคมวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมวิทยาทางเพศ (the Sexual Sociology Research Institute) แสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “การปฏิวัติต้องการชายชาตรีเพื่อต่อสู้ ทว่าเซ็กซ์ทำให้คุณมีความรักและความสุข” เซ็กซ์จึงกัดกร่อน ท้าทาย และบ่อนทำลายอุดมการณ์ปฏิวัติซึ่งก็คืออำนาจรัฐ ฉะนั้นเรื่องเพศจึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุม

ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการขัดขืน

อย่างไรก็ตาม มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการขัดขืน” เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ครอบงำ ควบคุมร่างกายของเพศหญิง และเพศชาย ให้กลายเป็นร่างกายที่เชื่อง (docile body) สยบยอมต่อชีวอำนาจ (bio power - อำนาจควบคุมร่างกาย) ก็ย่อมเกิดการต่อต้าน

การต่อต้านอำนาจรัฐที่พยายามควบคุม ผูกขาดวิถีชีวิตของชาวจีนดำเนินมาตลอด และการต่อต้านอำนาจรัฐคอมมิวนิสต์ ที่พยายามควบคุมทุกอณู และปริมณฑลของการดำเนินชีวิตก็ระเบิดออกมาผ่านกิจกรรมทางเพศ

การท้าทายอำนาจรัฐผ่านกิจกรรมทางเพศนั้น ได้ดำเนินมา และปะทุอย่างสุดขั้วในยุคปัจจุบัน ที่อำนาจในการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ถูกลดทอนลงด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ แม้ปัจจุบันพคจ.มิได้เน้นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ปฏิวัติ ทว่าการสูญเสียอำนาจในการควบคุมชีวิตของผู้ใต้ปกครอง ย่อมสะท้อนว่ารัฐกำลังเสื่อมอำนาจและอ่อนแอ ฉะนั้นการควบคุมมิติทางเพศในชีวิตของมวลชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสะท้อนอำนาจรัฐที่แข็งแกร่ง

ล่าสุดบทอัศจรรย์ฉาวระหว่าง เหลียงเฉาเหว่ย กับทังเหวยในภาพยนต์เรื่อง เล่ห์ ราคะ ของอั้งลี่ (หลี่อัน) ที่ฉายในแผ่นดินใหญ่ก็ถูกกรรไกรคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์แห่งชาติจีน (SARFT) หั่นกระจาย จนแฟนหนังจำนวนมากโวยลั่น4 แม้ว่าสังคมจีนจะผ่อนคลาย เปิดรับหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้นก็ตาม ทว่าภาพโป๊เปลือย และสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาทางเพศก็ยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวด อาทิ เดือนมกราคม 1994 รัฐบาลจีนได้สั่งแบนหนังสือเรื่อง ‘เฟ่ยตู’ (The Abandoned Capital) นวนิยายขายดีที่ตีแผ่ชีวิตเซ็กซ์อย่างโจ่งแจ้งของเจียผิงวา และในเดือนพฤษภาคม 2000 รัฐบาลก็ได้สั่งห้ามจำหน่ายหนังสือเรื่อง ‘เซี่ยงไฮ้เบบี้’ ของเว่ยฮุ่ย พร้อมสั่งเผาหนังสือกว่า 40,000 เล่ม แต่กระนั้น ก็ยังมีการจำหน่ายหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ในตลาดใต้ดินและมียอดขายรวมกันเกือบ 1,000,000 เล่ม5
หลี่ลี่ คอลัมนิสต์เซ็กซ์ชื่อดังของจีน ผู้ใช้นามปากกาว่า มู่จื้อเหม่ย
เพราะเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง (personal is politic) การควบคุมเรื่องส่วนตัวของประชากรจึงเป็นเรื่องของการเมืองด้วยเช่นกัน และในทางตรงข้ามการท้าทายอำนาจควบคุมของรัฐ ด้วยเรื่องส่วนตัวจึงเป็นการแสดงออกซึ่งการเมือง ภาพหนุ่มสาวจีนแสดงบทรัก บรรจงจุมพิตกันกลางพื้นที่สาธารณะที่พบเห็นได้อย่างดาษดื่น จึงเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ ที่พยายามควบคุมร่างกายประชาชน จำกัดกิจกรรมทางเพศ

การควบคุมปิดบังกิจกรรมทางเพศ และร่างกายของผู้หญิง ถูกท้าทายด้วยการเปิดเผยมากขึ้น การแต่งกายของสาวจีนที่เดิมถูกครอบงำด้วยอำนาจอย่างมิดชิด ก็เริ่มเผชิญกับการต่อต้านด้วยการเปิดเผย เน้นส่วนสัดเว้าโค้ง และเปิดเผยมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆๆๆ การพูดถึงและแสดงออกซึ่งกิจกรรมทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ขณะที่รัฐยังพยายามจับจ้องควบคุมอย่างสุดกำลัง ประหนึ่งแมวจับหนู

เพราะเซ็กซ์เป็นกิจกรรมที่ทำให้บรรลุ และสะท้อนถึงความสุขแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญอันหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย เรื่องเพศจึงเป็นภัยต่อการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ควบคุมจากส่วนกลาง

วัยรุ่นแดนมังกรคนหนึ่ง ซึ่งท้าทายอำนาจควบคุมทางเพศอย่างเปิดเผยและดุดันคือ หลี่ลี่ คอลัมนิสต์เซ็กซ์ชื่อดังของจีนซึ่งใช้นามปากกาว่า มู่จื้อเหม่ย จึงประกาศก้องว่า

“เสรีภาพในการร่วมเพศ คือสิทธิเสรีภาพของฉัน นี่คือชีวิตของฉัน และฉันจะทำอะไรก็ได้ที่ฉันต้องการ”6

อิสรภาพบนเตียงจึงเป็นการท้าทาย ขัดขืนอำนาจรัฐ และเป็นการเรียกร้องสิทธิต่างๆที่รัฐพยายามจำกัดควบคุม ขณะเดียวกันกิจกรรมทางเพศที่เปิดเผยมากขึ้นจึงสะท้อนการต่อสู้ ท้าทาย และชี้ให้เห็นว่า นับวันอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จของพคจ. ยิ่งเสื่อมลงทุกที

เสียงตะโกนเพรียกหาเสรีภาพจากห้องนอน จึงค่อยๆดังขึ้น และจะดังขึ้นไปอีกนาน 

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นโดยอาศัยแนวคิดหลังสมัยใหม่ (post-modernism) ซึ่งเชิ่อว่า สัจจะ (truth) ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เราสามารถแสวงหาสัจจะ หรือความจริงได้ ด้วยการอธิบายจากหลายแนวทาง นอกจากนี้ยังได้ใช้แนวคิดเรื่องเพศภาวะ (Gender) ซึ่งแต่ละสังคมได้สร้างคำอธิบายให้เพศสภาวะเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะ และกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเพศ อาทิ ผู้หญิงควรดำรงตนแบบหนึ่งขณะที่ผู้ชายควรประพฤติ และดำรงตนในอีกรูปแบบหนึ่ง ในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งเรื่องเพศภาวะนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ อำนาจ ความจริง และความรู้ ซึ่งก่อให้เกิดวาทกรรม ในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ ว่าดำเนินไปในรูปแบบใด และคนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยได้รับอิทธิพลครอบงำจากความจริง หรือวาทกรรม  นั้นอย่างไร




เอกสารอ้างอิง

[1] ผู้จัดการออนไลน์, “จะกี่ร้อนกี่หนาว ‘กี่เพ้า’ ก็ยังเร้าใจ,”
[http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9470000032888],
5 สิงหาคม 2547.
[2] Edward Hudgins, “Can Sex Liberate Red China?,”
[http://objectivistcenter.org/cth--762-Can_Sex_Liberate_Red_China.aspx], 27 December 2007.
[3] Gender and politics in Communism, [http://www.iun.edu/~hisdcl/h207_2002/chang2.htm],
27 December 2007.
[4] ผู้จัดการออนไลน์, “หนุ่มจีนโวยบทเซ็กซ์ใน“เล่ห์ ราคะ”ถูกหั่น วิ่งโร่ฟ้อง “กบว.จีน” ฐานทำอารมณ์สะดุด,”
[http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9500000135809],
15 พฤศจิกายน 2550.
[5] ผู้จัดการออนไลน์, “‘มู่จื้อเหม่ย’ คอลัมนิสต์เซ็กซ์อื้อฉาวแห่งปี,”
[http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=4617230049967], 18 ธันวาคม 2546.
[6] Hannah Beech, “Sex, Please? We’re Young and Chinese,”
[http://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2006-01/19/content_513764.htm], 19 January 2006.
กำลังโหลดความคิดเห็น