xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:เศรษฐกิจจีนปี 2551 เน้นนำเข้า-บริโภค: ผลดีส่งออกไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปี 2550-51 จีนยังคงเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในอัตราเลขสองหลัก การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายตัวทางการค้า การบริโภคและการลงทุน โดยการค้าระหว่างประเทศของจีนปัจจุบันเพิ่มขึ้นในอัตราสองเท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.5 คาดว่าตลอดทั้งปีจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25-30 โดยปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 3 ของไทย คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.5 จากอัตราร้อยละ 11.3 ในปี 2550 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะยังคงขยายตัวในอัตราสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นกอปรกับการขยายตัวของการบริโภคในจีนจะทำให้การนำเข้าสินค้าโดยรวมของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับปี 2550

สรุปภาวะเศรษฐกิจจีนปี 2550

เศรษฐกิจจีนในปี 2550 มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราเลขสองหลัก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 GDP ของจีนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.1 ในปี 2549 ทั้งนี้ การลงทุนของจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.1 โดยการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 11 ในด้านการบริโภค ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยสินค้าประเภทรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้างและของตกแต่งมียอดขายเพิ่มขึ้นมาก ทางด้านการค้า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2007 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 26.6 คิดเป็นมูลค่า 879 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.0 เป็นมูลค่า 693 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญประกอบด้วยเครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า ICT เสื้อผ้าและรองเท้า

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เทียบกับร้อยละ1.5 ในปี 2549 โดยเฉพาะราคาสินค้าขายปลีก อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ภายในบ้าน และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.9 ภาวะความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ทางการจีนออกมาควบคุมการลงทุนของภาคเอกชนโดยเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์หลายครั้งในปีนี้ จากอัตราร้อยละ 7.5 ในเดือนกรกฎาคม 2549 ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.5 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 รวมทั้งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 จีนได้ปรับเพิ่มอัตราเงินกู้ถึง 6 ครั้งจนมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 7.47 ในช่วงปลายปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงปลายปี 2550 จะขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการส่งออกและการลงทุนที่ขยายตัวลดลง ทำให้เศรษฐกิจปี 2550 ทั้งปีขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.4 เทียบกับร้อยละ 11.5 ในช่วง 9 เดือนแรก โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ๆ ยังมาจากการลงทุน การส่งออกและการบริโภค คาดว่าการลงทุนโดยรวมทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 24.8 โดยการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-12 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และการบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 11.9 การส่งออกทั้งปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 คิดเป็นมูลค่า 1,216 พันล้านดอลลาร์ การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เป็นมูลค่า 954 พันล้านดอลลาร์

การเติบโตด้านการค้าและการลงทุนของจีนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนจากต่างประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา จีนได้เป็นแหล่งลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนสะสมจนถึงสิ้นปี 2549 มีจำนวน 685 พันล้านดอลลาร์ จาก 594,415 โครงการ โดยนักลงทุนรายใหญ่มาจากฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ คาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2550 จะมีมูลค่าประมาณ 70-75 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 จากปี 2549 การท่องเที่ยวเป็นอีกธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับจีน คาดว่าในปี 2550 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนจีนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 คิดเป็นจำนวนประมาณ 130 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 40 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 13-15 การได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมาก กอปรกับรายได้จากการท่องเที่ยวและเงินทุนที่ไหลเข้าทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นจาก 1,066 พันล้านดอลลาร์ในปลายปี 2549 เป็น 1,434 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2550 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,507 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2550 ภาวะดังกล่าวกดดันให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 เงินหยวนแข็งค่าแล้วร้อยละ 4.4 และแข็งค่าร้อยละ 9.8 นับจากปรับค่าเงินหยวน (ช่วง ก.ค. 2548-ต.ค. 2550) คาดว่าเงินหยวนจะแข็งค่าเป็น 7.40 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในปลายปี 2550 เทียบกับ 7.82 หยวนเมื่อปลายปี 2549 คิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าเงินร้อยละ 5.7

แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2551

เศรษฐกิจจีนในปี 2551 มีแนวโน้มเติบโตลดลงเหลืออัตราร้อยละ 10.5 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยืนราคาในระดับสูงจนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ อีกทั้งปัญหา Sub-prime ในสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคในสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วย ปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากผู้ส่งออกสำคัญของโลกซึ่งรวมถึงจีนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเพิ่มในสินค้าอุตสาหกรรมของตน โดยขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงจนทำให้สินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนในการส่งออกสูงเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออกทั้งหมด ทำให้ผลกระทบต่อการหดตัวของอุปสงค์ในสินค้าทั่วไปมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระดับหนึ่ง ผู้ส่งออกจีนได้หาทางลดผลกระทบดังกล่าวโดยการขยายตลาดส่งออกไปยังสหภาพยุโรปซึ่งมีค่าเงินแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน ทำให้คาดว่าการส่งออกโดยรวมของจีนในปี 2551 จะขยายตัวในอัตราลดลงเล็กน้อยเหลือประมาณร้อยละ 20.6

แม้การส่งออกจะเติบโตลดลง แต่คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวในอัตราสูงใกล้เคียงกับปี 2550 เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรทั้งในภาคเมืองและชนบทในอัตรากว่าร้อยละ 10 ต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับกีฬาโอลิมปิค คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องต่อการลงทุน การบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจในบริเวณมหานครปักกิ่ง มหานครเทียนจีน ตลอดจนพื้นที่เศรษฐกิจที่เชื่อมต่อระหว่างมหานครทั้งสอง ส่วนโครงการลงทุนในภาคตะวันตกก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองชั้นรองทางด้านตอนในของประเทศ คาดว่าการบริโภคของจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 12.2 สูงกว่าในปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 แต่การลงทุนคาดว่าจะชะลอตัวลง โดยเติบโตร้อยละ 22.0 เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตลดลงเหลือร้อยละ 17.1 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของการบริโภคในประเทศและค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้การนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 สูงกว่าในปี 2550 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5

ทางด้านนโยบายทางการเงิน คาดว่าทางการจีนจะดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อมิให้สูงเกินไป และอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากอีก เพื่อมิให้รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากสุทธิติดลบ จนส่งผลให้ผู้ออมเงินหันไปลงทุนในตลาดหุ้นมากเกินไปจนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อในปี 2551 จะค่อย ๆ ลดลงเหลือร้อยละ 4.0 นอกจากนี้ ทางการจีนอาจชะลอภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ 1) ชะลออัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยการลดการคืนอากรสินค้าบางประเภท และเพิ่มภาษีส่งออกรวมทั้งกำหนดโควต้าส่งออกเพิ่มเติม 2) สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในรูปของการลงทุนทางตรง การเข้าไปซื้อกิจการในต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3) พิจารณาขยายเพดานการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน เพื่อให้ค่าเงินหยวนเปลี่ยนแปลงตามภาวะตลาดได้มากขึ้น

ทิศทางการค้าไทย-จีน

แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่มุ่งเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น อีกทั้งค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นจะทำให้การนำเข้าของจีนยังคงเพิ่มขึ้น ไทยจึงมีโอกาสที่จะขยายการค้ากับจีนได้มากขึ้น โดยปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 ยอดส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.51 เป็นมูลค่า 11,921 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการส่งออกไทยโดยรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 โดยสินค้าสำคัญหลายรายการมียอดส่งออกเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกสูงถึงราว 1 ใน 4 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปจีน มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 57.7 เป็นมูลค่าถึง 3,122 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงได้แก่สินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า (เพิ่มร้อยละ 61.8) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพิ่มร้อยละ 34.9) แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มร้อยละ 39.9) วงจรพิมพ์ (เพิ่มร้อยละ 31.5) ผลิตภัณฑ์ยาง (เพิ่มร้อยละ 29.7) เคมีภัณฑ์ (เพิ่มร้อยละ 25.7) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญบางรายการมียอดส่งออกลดลงหรือมีการชะลอตัวของการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 29.4) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 4.7) ยางพารา (เพิ่มร้อยละ 16 เทียบกับร้อยละ 66 ในปี 2549) ทองแดง (เพิ่มร้อยละ 13.7 เทียบกับร้อยละ 73.8 ในปี 2549) ไม้และผลิตภัณฑ์ (เพิ่มร้อยละ 5.8) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิด เช่น ยางพารา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้ผู้นำเข้าหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นบางส่วน เช่น มันสำปะหลังจากเวียดนาม และส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดเรื่องอุปทานของสินค้าบางชนิด เช่น ผลผลิตข้าวเหนียวที่ขาดแคลน สำหรับในปี 2551 คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนน่าจะขยายตัวในอัตราสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะยังขยายตัวได้ดี

ในด้านการนำเข้า ยอดนำเข้าของไทยจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 คิดเป็นมูลค่า 13,412 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นช้ากว่าการขยายตัวของสินค้าส่งออก โดยสินค้าหลักเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักทุกรายการ ยกเว้นเพียงเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 19.6 และการนำเข้าแผงวงจรไฟฟ้าก็ลดลงร้อยละ 17.3 เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนของไทยที่ชะลอตัวลงอย่างมากในปีนี้ จนเป็นเหตุให้การนำเข้าสินค้าทุนและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมบางประเภทลดลง ส่วนสินค้าที่มียอดนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงได้แก่สินค้าอุปโภคและบริโภค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (เพิ่มร้อยละ 94.5) ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง (เพิ่มร้อยละ 88.1) ของใช้เบ็ดเตล็ด (เพิ่มร้อยละ 41.8) ผักและผลไม้ (ร้อยละ 31.7) และสินค้าประเภทวัตถุดิบอุตสาหกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์โลหะ (เพิ่มร้อยละ 49.4) สินแร่โลหะ (ร้อยละ 36.3) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 30.3) เป็นต้น คาดว่าในปี 2551 การนำเข้าของไทยจากจีนจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าในปี 2550 เนื่องจากภาวะการลงทุนและการบริโภคในไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นทำให้ยอดนำเข้าสินค้าทุน (อาทิ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า) ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

สรุปได้ว่า แม้เศรษฐกิจจีนในปี 2551 อาจเติบโตในอัตราชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2550 แต่คาดว่ายังคงเติบโตในอัตราสูงที่ร้อยละ 10.5 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2551 จะให้น้ำหนักกับการบริโภคในประเทศที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าเงินหยวนก็คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 6 ซึ่งน่าจะทำให้การนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2550 ไทยจึงน่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปจีน โดยคาดว่ายอดส่งออกของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะขยายตัวได้ดี ส่วนการนำเข้าของไทยจากจีนน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการบริโภคและการลงทุนที่จะขยายตัวสูงขึ้นในปี 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น