"โฆสิต" เชื่อเงินเฟ้อยังไม่ขยับขึ้นรุนแรงช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ หลัง กระทรวงพาณิชย์ประเมินเงินเฟ้อปีนี้ อยู่ที่ระดับ 3.5% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดรอบ 50 ปี ขณะที่รัฐบาลของเวลาปฎิบัติภารกิจงานพระราชพิธีฯ ก่อนประเมินตัวเลขใหม่
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจากหลายหน่วยงานได้ประเมินสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศในปี 2551 ว่าจะอยู่ในระดับที่สูงรุนแรง และส่งผลกระทบต่อประชาชนนั้น นายโฆสิต กล่าว่า รัฐบาลขอเวลาในช่วงนี้เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อนที่จะประเมินสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ และเชื่อว่าระยะเวลา 2 - 3 สัปดาห์ อัตราเงินเฟ้อคงไม่สูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินปัจจัยต่างๆ แล้ว และเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศในปี 2551 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.5 สูงที่สุดในรอบ 50 ปี
โดยวานนี้ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงภาวะดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ในเดือน ธ.ค.50 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 3.2% ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี 50 มีสาเหตุหลักมาจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 2.8% ได้แก่ ไข่ นม 8.3% เครื่องประกอบอาหาร 6.4% ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 4.3% ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 3.5% โดยสินค้าในหมวดที่ปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 23.1%
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี 2550 เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปี"49 เนื่องจากช่วง 9 เดือนแรกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยในประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่มาปรับตัวสูงขึ้นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี"50 ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะ รวมทั้งสินค้าต่างๆ มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 2.0-2.5% ส่วนในปี"51 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.0-3.5% โดยอิงราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบที่ 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.0-33.5 บาท/เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ หากเทียบอัตราเงินเฟ้อของเดือนธ.ค.50 กับเดือนพ.ย.50 ที่ผ่านมา สูงขึ้น 1% ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะผักและผลไม้ ประกอบกับราคาข้าวสารเหนียวลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามปัจจัยจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตามภาวะราคาตลาดโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาทิ อุปกรณ์ยานยนต์ และก๊าซหุงต้มขอปรับราคาสูงขึ้น ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.3% มาจากการปรับลด 1 ครั้งและเพิ่ม 1 ครั้งของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยทุกชนิดภายในประเทศ ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มที่อนุมัติให้ปรับขึ้นจากคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.50 อุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ปรับราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าโดยสารเครื่องบินปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในกำลังติดตามราคาวัตถุดิบของสินค้า 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันพืช เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการผลิตไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ส่วนผลิตภัณฑ์นมจะติดตามดูว่าได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอีกหรือไม่ หลังจากปีที่ผ่านมาได้อนุมัติให้ปรับราคาผลิตภัณฑ์นมไปแล้ว
นายศิริพล กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ประกอบการสินค้าที่ไม่อยู่ในรายการ สินค้าควบคุมนั้น ขอเตือนว่าการขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลสมควรรองรับนั้นจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในติดตามในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด หากพบมีการกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และสามารถนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาอยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุมได้ ส่วนที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับราคาโยเกิร์ตเข้ามา ก็จะเข้าไปดูแลใกล้ชิดเช่นกัน ขณะที่การติดตามราคาวัตถุดิบนั้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้ากระทรวงพาณิชย์จะเปิดโอเปอเรชั่น รูม ที่จะติดตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากทั่วโลก ซึ่งจะดูสินค้าทุกประเภทว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อนำมาบริหารจัดการเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาสินค้าภายในประเทศ