xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งส่อยาว ธปท.รอดอลลาร์ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติหมดมุขแก้ปัญหาบาทแข็งค่า ผู้ว่าฯ บอกได้แค่ดอลลาร์มีแนวโน้มตีกลับได้ วอนผู้ส่งออก-นำเข้าให้ความร่วมมือไม่เก็งกำไร แนะป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศ เผยคนไทยเก็งกำไรมากกว่าต่างชาติที่แม้เทขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมายังเก็บไว้ในบัญชีนอนเรสซิเด้นท์บาท ไม่เชื่อนักเก็งกำไรจับทิศทางการทำงานได้ ด้านขิงแก่ถกเอกชนเมินค่าเงินบาทกลับคุยโวผลงานเศรษฐกิจในรอบปีน่าพอใจ

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกมีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้นำเข้าไม่ค่อยมีการนำเงินบาทแลกเงินดอลลาร์ เพื่อนำเข้าสินค้านั้น ธปท.มีการพูดกับผู้ส่งออกตลอด และพยายามจะให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าและควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างผันผวน จึงเป็นเรื่องที่ยากหากจะผู้ส่งออกหรือผู้มีรายได้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศเก็งกำไรว่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่าในอนาคต

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าอย่าเก็งกำไรว่าต่อไปค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน แม้ขณะนี้จะมีหลายมุมมอง แต่ในที่สุดแล้วควรมีการป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศดีกว่า และที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าเยอะแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสที่ค่าเงินอาจตีกลับได้และทำให้เจ็บตัวได้ นอกจากนี้ในสหรัฐเองก็มีเริ่มเงินทุนไหลเข้าเยอะขึ้นจากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐ ทำให้มีนักลงทุนหันมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ราคาถูกลง รวมทั้งเงินลงทุนที่เข้าไปช่วยระบบสถาบันการเงินของสหรัฐด้วย

“ในปัจจุบันเท่าที่ธปท.มีการตรวจสอบมีเพียงการเก็งกำไรเงินในประเทศเองมากกว่าการเก็งกำไรจากข้างนอก โดยเฉพาะในช่วงนี้แม้นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เงินทุนส่วนนั้นก็ยังคงอยู่ในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ (นอนเรสซิเด้นท์บาท) อย่างไรก็ตาม ธปท.คงจะยังไม่มีการหารือกับผู้ส่งออกในเรื่องการเทขายเงินดอลลาร์ออกมามากในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงไปมากแล้ว รวมถึงธนาคารพาณิชย์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศด้วย ดังนั้น หากคิดถูกก็ดี หากคิดผิดก็จะเจ็บตัวได้ง่าย สู้หันไประวังตัวเองดีกว่า หรือทำอะไรแบบกลางๆ ไว้ดีกว่า”ผู้ว่าการธปท. กล่าว

นางธาริษาระบุว่า ธปท.ได้ทำหน้าที่ในการดูแลค่าเงินบาทมากเยอะแล้ว ซึ่งไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปหรือแข็งค่ารวดเร็ว แต่ธปท.พยายามจะดูแลให้ไปด้วยกันกับประเทศคู่ค้าในหลายประเทศแถบภูมิภาค จึงมีควรดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นรายวัน นอกจากนี้ผู้นำเข้าก็เริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นในช่วงเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะการลงทุนในประเทศเริ่มดีขึ้น และในระยะต่อไปเศรษฐกิจจะดีจากลงทุนของประเทศและการใช้จ่ายของผู้บริโภค

“สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นพระเอกบ้าง ไม่ใช่พึ่งพาแต่การส่งออกอย่างเดียว จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรมีกระตุ้นการลงทุนให้มีมากขึ้น เพื่อจะได้มีพระเอกหลายๆ ตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย”

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า ธปท.มีการเข้าไปแทรกแซงหรือมีการใช้วิธีการเดิมทำให้มีการจับทิศทางหรือเข้าไปเก็งกำไรได้ง่ายนั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ธปท.ทำอยู่ไม่ใช่ปัญหา แต่เกิดจากที่ทุกคนหันไปเก็งกำไรค่าเงินบาทมากขึ้นด้วยการเทขายเงินดอลลาร์ออกมามาก ดังนั้น ไม่ใช่การทำงานของธปท.ทำให้จับทิศเก็งกำไรได้ง่าย รวมทั้งไม่ใช่เหตุที่ธปท.ทำฝ่ายใครด้วย แต่เป็นการเก็งกำไรเงินบาทมากกว่า

รัฐบาลขิงแก่ฟุ้งแก้ ศก.ฉลุย-เมินบาท

วันเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่เคยประชุม กรอ. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2550
 
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสรุปการทำงานร่วมกันในระยะเวลา 1 ปี ผลของการหารือวันนี้มีหลายอย่างที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในฐานะเลขานุการฯ จะรับไปเป็นศูนย์การประสานงานร่วมกันเพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

"ภาคเอกชน มองว่า 1 ปีที่ผ่านมา การทำงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน หลายสิ่งที่สามารถทำได้ ก็จะดำเนินการต่อไป บางสิ่งที่ยังไม่คืบหน้า และเริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ก็ช่วยกันสานต่อให้มีความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่พอจะกล่าวได้ว่าจะมีการทำงานร่วมกันร่ะหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง"

ส่วนภาคเอกชนได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องอะไรหรือไม่ระหว่างรอยต่อของรัฐบาลนี้กับรัฐบาลใหม่ พล.อ. สุรยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงอะไรหรือไม่ แต่สิ่งที่ยังไม่บรรลุผลก็อยากให้ทำต่อเนื่อง เช่น การดำเนินงานเรื่องการลงทุนขนาดใหญ่ในเรื่องรถไฟรางคู่ เรื่องขนส่งระบบราง ซึ่งบางส่วนมีความคืบหน้าไปแล้ว แต่บางส่วนก็มีการออกแบบการประมูล นั่นเป็นความต่อเนื่องที่ภาคเอกชนอยากเห็น ขณะที่การขนส่งทางน้ำก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ต่อเนื่อง เพราะภาคเอกชนกังวลเรื่องราคาค่าขนส่ง เพราะหากน้ำมันมีราคาสูงอย่างต่อเนื่องก็จำเป็นต้องส่งเสริมการขนส่งทางราง และทางน้ำมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า นั่นเป็นเรื่องที่เอกชนได้หารือ ก็ต้องทำให้ต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ภาคเอกชนยังได้แสดงความเป็นห่วงและกังวลเรื่องสถานการณ์ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

“ในส่วนของจีดีพีไตรมาสที่ 4 ยังไม่ได้สรุป แต่ประเมินได้ว่าอยู่ประมาณร้อยละ 4.5-4.8 แต่สภาพัฒน์ฯยังไม่สรุปตัวเลขชัดเจนออกมา แต่ผมพูดเพียงการประเมินเท่านั้นเอง”

เอกชนสนใจโลจิสติกส์-เซาท์เทิร์นซีบอร์ด

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าที่ประชุมรับทราบรายงานภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะชะลอตัวของ ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ ปัญหาการแบ่งทรัพยากรในอนาคต เช่น น้ำมันปาล์มที่เริ่มจะขาดแคลน จากที่บางส่วนเอาไปใช้ด้านการบริโภคและการพลังงาน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้ให้สภาพัฒน์และครม.ชุดนี้ฝากไปยังรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด และการขยายระยะเวลากองทุนเอสเอ็มอี 5 พันล้านบาท ไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนธันวาคม 2551

“เราวิเคราะห์ถึงความบกพร่องที่จะนำเสนอในรัฐบาลต่อไป เช่น นโยบายขับเคลื่อนในปี 2551 ที่สภาพัฒน์จะนำเสนอในรัฐบาลใหม่ นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาพอเพียง การขับเคลื่อนงบประมาณไปสู่ระดับฐานล่างในชุมชนต่าง ๆ การขยายการใช้เงินในกองทุนเอกสเอ็มอี การเร่งทำโครงการเมกกะโปรเจกส์ที่จะขยายในปี 2551 เป็นต้น” ประธาน สอท. กล่าว

นายประมณฑ์ คุณเกษม ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การหารือกับรัฐบาลในครั้งนี้จะเน้นไปถึงการให้ข้อสังเกตเรื่องงานที่ยังค้างผ่านไปยังรัฐบาลชุดใหม่ เช่น ปัญหาที่กระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงสร้างโลจิสติกส์ที่ยังพัฒนาไม่ครบ ปัญหาค่าเงินบาทที่แม้รัฐบาลชุดนี้จะเร่งแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูต่อไป รวมไปถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมในปี 2551 ที่จะต้องดำเนินการให้ได้ผล หากไม่พบข้อบกพร่องก็ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลใหม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น