xs
xsm
sm
md
lg

แฉผู้ส่งออกเก็งกำไรบาท "ฉลองภพ"ตอกลิ่ม ธปท. - นายกฯ หย่าศึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯ หย่าศึก รมว.คลัง-ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เรียกชี้แจงและหารือปัญหาค่าเงินบาท ก่อนสั่งจับตาใกล้ชิดและถกกับภาคเอกชน ส่วนราคาน้ำมันทำระบบเศรษฐกิจป่วน ประชาชนต้องทำใจ ฟุ้ง ก.พ.นี้แท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในไทยเกิด สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยไม่มีปัญหา "ฉลองภพ" ยันแบงก์ชาติต้องปรับเปลี่ยนการบริหารและดูบาทรายชั่วโมง แฉผู้ส่งออกเก็งกำไรค่าเงินบนความอ่อนหัดของแบงก์ชาติ แต่ไม่ผิดกฎหมายเพราะเป็นการปกป้องความเสี่ยง

ภายหลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมา ทำให้นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ทนไม่ไหว ออกมาวิจารณ์และสั่งให้ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เปลี่ยนวิธีการบริหารค่าเงินบาท เพื่อให้อ่อนค่าลงบ้าง ปรากฏว่า วานนี้ (11 ม.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียก รมว.คลัง และนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าพบหารือเพื่อรับทราบข้อมูลการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยมีการหารือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แก้ปัญหาราคาสินค้าแพงและภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด

"ผมต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่า ราคาสินค้าจะต้องเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น และย่อมส่งผลกระทบกับต้นทุนการขนส่ง แต่รัฐบาลจะเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินไป"

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ขณะนี้ ไม่ได้มีการชะลอตัว โดยเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งจะมีการนำแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในไทย เข้ามาติดตั้งในช่วงเดือน ก.พ.ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทย ยังไม่ได้มีปัญหา พร้อมกับมั่นใจว่า ความเชื่อมั่นของไทยในสายตาของนักลงทุน ยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

"ยอมรับว่า ปัญหาทางการเมือง อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่รุนแรง ความเชื่อมั่นก็ไม่ได้ลดลง อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ก็จะช่วยได้อีกมาก" นายกรัฐมนตรีกล่าว

**สั่งเข้มบาทแข็งแฉผู้ส่งออกเก็งกำไร

นายฉลองภพ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ธปท.ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงสถานการณ์ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากมีการเก็งกำไรกันมาก รัฐบาลจึงสนับสนุนเต็มที่ให้ ธปท.ดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากรวมถึงไม่ให้มีการเก็งกำไรจากผู้ส่งออกและกลุ่มผู้ที่มีรายได้เป็นเงินดอลลาร์มากเกินไป

"นายกฯ สั่งการให้ธปท.จับตาความเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะนี้อย่างใกล้ชิด ด้วยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ซึ่งสาเหตุหลักๆ เพราะมีการเก็งกำไร ทำให้การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.ทำได้ยากขึ้น ซึ่งหากตัดเรื่องการเก็งกำไรออกไป การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนก็จะง่ายขึ้น และหากเปรียบเทียบระหว่างนักเก็งกำไรภายนอกประเทศกับผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นดอลลาร์พบว่า คนข้างนอกเก็งกำไรน้อยกว่า ซึ่งเหตุผลคงเพราะผู้ส่งออกต้องปกป้องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นกระบวนการปกป้องตัวเอง ไม่ใช่การเก็งกำไรที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด" นายฉลองภพระบุ

รมว.คลังกล่าวว่า ตลอดช่วงต้นปีใหม่ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าแทรกแซงมาโดยตลอดแต่ค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าตลอดเช่นกัน สืบเนื่องจากนักเก็งกำไรจับทิศทางการบริหารงานของ ธปท.ได้ จากนี้จึงอยากให้ ธปท.ได้ไปหารือและชี้แจงกับภาคเอกชนให้เข้าใจว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการซ้ำเติมให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น แตกต่างจากเงินสกุลหลักอื่นๆ ทั้งยูโรและเยนที่ค่าเงินค่อนข้างนิ่ง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเพื่อนบ้านก็เกาะกลุ่มไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่เงินบาทยังไม่เข้าพวก ขณะเดียวกันเงินจากต่างประเทศก็ยังไหลเข้ามาลงทุนในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกันนี้ ธปท.ก็ต้องปรับเปลี่ยนการบริหาร นอกจากจะดูแลในระยะปานกลางแล้ว ยังต้องดูแลเป็นรายวันและรายชั่วโมงด้วย

ด้านนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ยินการกล่าวหาผู้ส่งออกเก็งกำไรค่าเงินมาโดยตลอด แต่อยากให้คิดด้วยว่าขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งอาหารและต่างๆ ต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดตายจากค่าเงินบาทแข็ง รัฐกลับไม่ฟังและแทบไม่ช่วยอะไร เห็นได้จากอุตสาหกรรมเหล่านี้ตลอด 2 ปีที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นมากได้ทยอยกันปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่มีผู้ส่งออกมานั่งกังวลเรื่องบาทแข็งกันแล้ว แต่จะหาทางเพื่อให้กิจการของตัวเองอยู่รอด โดยเฉพาะในสินค้าเกษตร ด้วยพบว่าเมื่อบาทแข็งให้ประโยชน์กับผู้นำเข้าฉะนั้นจากนี้ทิศทางการบริหารและดำเนินกิจการจึงต้องเร่งหาวัตถุดิบราคาถูกจากทั่วโลกเพื่อมาค้ำจุนให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้ เช่น นำเข้ากุ้ง ปลาหมึกสดจากนอกที่ราคาถูกทดแทนการซื้อจากชาวประมงในประเทศ

"เข้าใจว่าการทำแบบนี้ ก็จะถูกกล่าวหาอีกว่าเห็นแก่ตัว แต่จะให้ทั้งเราและชาวประมงตายเพราะทนค่าบาทแข็งค่าไม่ได้คงไม่ไหว อย่างน้อยคนหนึ่งตายอีกคนก็อยู่ทำบุญให้อีกคนได้ ที่ผ่านมาแม้เราจะเจอปัญหาแต่จะมีวงจร เช่น เสียหายไปบ้าง 2 ปี แต่จะกลับมาดีหลังจากนั้น แต่ทิศทางเงินบาทบาทอย่างนี้มองไม่เห็นอนาคตเลย" นายไพบูลย์ระบุ

**ล่าสุดเงินบาทต่อดอลลาร์ 33.15

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า วานนี้ (11 ม.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.15/16 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.15/16 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 33.16 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบแคบๆ ตลอดทั้งวัน จากการเข้าไปแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกเริ่มเบาบางลง"

ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นสวนทางกับค่าเงินยูโรและเงินปอนด์ที่กลับมาอ่อนค่าลงอย่างมาก เนื่องจากเงินดอลลาร์รีบาวน์กลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งนักบริหารเงิน คาดว่าเป็นการขายเงินยูโรและปอนด์เพื่อทำกำไรในช่วงสั้น วันจันทร์ที่ 14 ม.ค.นี้ นักบริหารเงิน คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.20 บาท/ดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น