xs
xsm
sm
md
lg

ผลพ่วงค่าเงินบาทฉุดยอดส่งออกอาหารไทยปี 51 วูบหายกว่า 5หมื่นลบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหารชี้จากผลกระทบค่าเงินบาทที่แตะ 30 บาท ส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวด้านส่งออกอาหารไทยปี 2551 ลดลงต่ำกว่าปี 2551 กว่า 50,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีเงินบาทเท่ากับ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 1.9 สินค้าที่ได้รับผลกระทบ ข้าว น้ำตาล ผักสด และผักแปรรูป ขณะที่ประมงได้รับผลกระทบน้อยสุด เพราะอาศัยวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยภายในงาน Thailand Food Industry Focus 2008 ถึง อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกอาหารของไทยในปี 2551ว่า จากการคาดการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวนส่งผลให้การ ขยายตัวของการส่งออกไทยในปี 2551 มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าปี 2550 โดยปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ส่งออกเพราะนอกจากจะทำให้รายได้ในรูปเงินบาทลดลงแล้ว ยังส่งผลทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งที่ค่าเงินมีเสถียรภาพได้

ทั้งนี้ จากประเมินผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อการส่งออกสินค้าอาหารพบว่า หากเงินบาทแข็งค่าจาก 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ในระดับ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารของไทยในปี 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.6 หรือมูลค่าลดลงประมาณ 16,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับกรณีเงินบาทเท่ากับ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ในระดับ 30.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ประเมินว่ามูลค่าส่งออกอาหารของไทยในปี 2551 มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 1.9 หรือลดลงกว่า 50,000 ล้านบาทจากกรณีเงินบาทเท่ากับ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับ สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ผักสดและผักแปรรูป แป้งและสตาร์ช มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยมีสาเหตุเนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้พึ่งพิงวัตถุดิบและแรงงานในประเทศเข้มข้นตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าประมงได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากส่วนใหญ่อาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง

อย่างไรก็ตามสินค้าที่คาดว่าจะยังคงส่งออกได้ดีในปี 2551 คือ กลุ่มธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 ยังคงไม่สามารถชดเชยสต็อกอาหารโลกที่ลดลงได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นนี้

สำหรับ ปัจจัยหลักที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2551 ได้แก่ ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี และภาวะโลกร้อน โดยราคาสินค้าอาหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเนื่องจากสินเชื่อด้อยคุณภาพอาจทำให้เกิดการชะลอตัวของประเทศคู่ค้า ซึ่งหมายถึงไทยด้วย ขณะที่แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะเป็นปัจจัยที่ลดทอนศักยภาพการแข่งขันของการส่งออกของไทย ผู้ส่งออกควรหันไปเน้นทำตลาดใหม่ เช่น จีนอินเดีย และรัสเซีย เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าทั้ง 3 ประเทศจะยังมีการเติบโตของเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีและช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น