xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหาร เผยอาหารดาวเด่น เน้นสุขภาพควบคู่คุณภาพมาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหารแนะผู้ประกอบการอาหารไทยปรับตัวให้ทันกระแสโลก เพิ่มส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เสริมสร้างสุขภาพผู้บริโภค ควบคู่คุณภาพ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์ตลาด ระบุชัด ปี 2551 ผู้บริโภคนิยมอาหารที่มีส่วนผสมพิเศษเพื่อสุขภาพ Superfoods และ Superfruit มาแรง ถั่วเหลือง ,กรดไขมันโอเมก้า, โปรไบโอติก, ไฟเบอร์ ยังเป็นสินค้าดาวเด่นต่อเนื่องจากปี 2550 ผลไม้สีแดง ม่วง น้ำเงิน ที่มีสารต่อต้านอนูมูลอิสระกลุ่มไฟโตฟีนอลิก ได้รับความนิยมสูง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยนอกเหนือจากการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสนใจไม่ใช่แค่อาหารอีกแล้ว แต่ที่มากกว่านั้นคือ ในอาหารนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้างที่จะให้มูลค่าเพิ่มที่เสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภคนอกเหนือจากโภชนาการพื้นฐาน เช่น กินแล้วช่วยเพิ่มความจำ ไม่อ้วน ไม่เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ แนวโน้มเหล่านี้ไม่ใช่กระแสระยะสั้นๆ เพราะมันกลายเป็นกระแสโลกที่ยังต่อเนื่องไปอีกนาน สอดคล้องกับนโยบายการป้องกันก่อนเกิดโรคของสาธารณสุขทั่วโลก ดังนั้นผู้ผลิตอาหารไทยนอกเหนือจากการพัฒนา ผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานความคิดเดิมแล้วนั้น สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การเพิ่มส่วนผสมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และทำให้สุขภาพดีขึ้นเข้าไปในสินค้าของตน

“จากข้อมูลทิศทางตลาดโลกข้างต้น หากย้อนกลับมาดูผลิตภัณฑ์อาหารที่ไทยส่งออก สัดส่วนของการ ส่งออกอาหารแปรรูปมีประมาณร้อยละ 52 โดยประมาณ 90-95% ยังไม่มีการพัฒนาไปสู่สินค้าในลักษณะเพิ่มคุณค่าด้านสุขภาพ เรายังเป็นเพียงการแปรรูปปกติ ซึ่งผู้มีบทบาทในการเพิ่มมูลค่าอีกขั้นหนึ่งก็คือ บริษัทผู้นำเข้าเพื่อนำไปแปรรูปต่อของแต่ละประเทศ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบในระยะยาวสำหรับกระแสการบริโภค เพื่อสุขภาพที่เห็นได้ชัดคือ น้ำตาล แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลของประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากอัตราเพิ่มของประชากรต่ำ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้สินค้าไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสูงแต่ยังขาดการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ คือ สินค้าข้าว ปัจจุบันไทยยังส่งออกในลักษณะข้าวสารเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่นวัตกรรมได้ก้าวหน้าไปถึงการผลิตสตาร์ชจากข้าว แป้งข้าว และโปรตีนจากข้าว เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมอาหารหลายชนิด เนื่องจากสรรพคุณของข้าวที่ไม่มีกลูเตนและสารภูมิแพ้ และไม่มีกลิ่นรสไปรบกวนลักษณะเด่นของอาหารอื่นๆ ที่นำไปใช้เป็นส่วนผสม แต่ช่วยเรื่องระบบการย่อย ทำให้ละลายเร็วขึ้น เพิ่มคุณลักษณะเด่นทดแทนไขมันและสารเคลือบมัน ให้ความรู้สึกของครีมที่ละเอียด ใช้เป็นสารเพิ่มความข้นหนืดฯ ในต่างประเทศนิยมนำไปใช้ในอาหารหลายชนิดเช่น อาหารสำหรับทารก ซอส น้ำเกรวี่ ซุป พุดดิ้ง อาหารเช้าแบบแท่ง ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น สำหรับไทยซึ่งเป็น ผู้ผลิตข้าวในลำดับต้นๆ ของโลก มีโรงงานแปรรูปสตาร์ชจากข้าวไม่ถึง 10 โรง มูลค่าส่งออก สตาร์ชจากข้าวปีละประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณ 7% ขณะที่จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย กลับมีส่วนแบ่งมากกว่าไทย สำหรับโปรตีนหรือกรดอะมิโนจากข้าวนั้นแทบไม่ต้องกล่าวถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น