xs
xsm
sm
md
lg

จับตาค่าไฟ เม.ย.พุ่ง 6-7 สต./หน่วย หลังท่อก๊าซรั่ว กฟผ.ใช้น้ำมันผลิตแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แนวโน้มค่าไฟเดือน เม.ย.พุ่งขึ้น 6-7 สต./หน่วย หลังแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่าเจ๊ง ประกาศปิดซ่อมไม่มีกำหนด กฟผ.ต้องใช้น้ำมัน 100 กว่าล้านลิตรผลิตไฟ ต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายเพิ่มกว่า 2-3 พันล้าน จับตาบอร์ดพลังงานฯ เคาะสรุป 1 เม.ย.นี้

วันนี้(31 มี.ค.) มีรายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเชื้อเพลิง ได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาผลกระทบจากความล่าช้าในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าระบบจากแหล่งอาทิตย์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมนำเสนอข้อมูลทั้งหมด โดยเฉพาะการบริหารเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากต้องเปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฯ เป็นน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้เกิดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2,000-3,000 ล้านบาท

กฟผ.ระบุว่า ในเดือน มี.ค.-เม.ย. เมื่อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอาทิตย์ของสหภาพพม่าไม่สามารถเข้าระบบได้ตามแผน ทำให้ต้องใช้น้ำมันดีเซลแทนกว่า 100 ล้านลิตร เมื่อคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงคาดการณ์จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณ 6-7 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ การคำนวณตัวเลขเป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้นถึงผลกระทบ ซึ่งกระทรวงพลังงานต้องการทราบข้อมูล เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการบริหารจัดการไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชน โดยค่าเอฟทีที่อาจเพิ่มขึ้นมา 6-7 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการคำนวณจากต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ยังไม่ได้รวมปัจจัยบวกอื่นๆ ที่อาจทำให้ค่าเอฟทีไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้ เช่น เงินบาทที่แข็งค่าที่เป็นประโยชน์มาก

นายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการควบคุมระบบ กฟผ. ยอมรับว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้รับการแจ้งจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ PTTEP ในฐานะผู้ถือหุ้นแหล่งก๊าซธรรมชาติยายาดาและเยตากุนของสหภาพพม่า โดยยืนยันว่า ในช่วงวันที่ 11-20 เม.ย.นี้ อาจมีการปิดซ่อมประจำปีแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าว และจะไม่สามารถจัดก๊าซธรรมชาติเพื่อมาผลิตไฟฟ้าในปริมาณ กว่า 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ จะส่งผลกระทบไปยังโรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าไตเอ็นเนอยี่ รวมกำลังการผลิตเกือบ 4,000 เมกะวัตต์ จะต้องหยุดการดำเนินงานลง เนื่องจากไม่มีก๊าซฯไปป้อนโรงไฟฟ้าได้

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ กฟผ.จึงได้สั่งให้ทุกโรงไฟฟ้าเตรียมการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน และให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำกว่า 15 % หรือไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้า

"กฟผ.จะสั่งให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำ ทำการเดินเครื่องก่อน เช่น พลังน้ำ และถ่านหิน มากขึ้น หากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นหรือมีช่วงพีคเกิดขึ้น และก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ ก็จะสั่งให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลแทน เป็นแนวทางสุดท้าย เพื่อไม่ให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนสูงมากจนเกินไป"

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้ขอให้ ปตท.เร่งนำเข้าน้ำมันเตาเข้ามาสำรองไว้ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ก่อน เพราะหากใช้ดีเซลมากเกินไปจะเกิดต้นทุนเชื้อเพลิงมากกว่านี้ เนื่องจากราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 13-17 บาทต่อลิตร เทียบกับดีเซล 31.44 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าปัญหาก๊าซจากแหล่งอาทิตย์ของพม่าจะคลี่คลายได้ในเร็วๆ นี้ เพราะ ปตท.สผ.ยืนยันจะพยายามจัดส่งก๊าซฯ เข้าระบบให้ได้ตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนแค่ไหน ต้องกลับมาพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงกันก่อน พร้อมทั้งหาแนวทางลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น