ขุนคลังเลี้ยบ แจงค่าบาทแข็งแตะ 31.16/21 บาทต่อดอลลาร์ ยังเกาะกลุ่มเงินในภูมิภาค 8% รองจากญี่ปุ่น พร้อมยืนยัน ไม่นำมาตรการกันสำรอง 30% กลับมาใช้อีก เชื่อคลัง-แบงก์ชาติ ดูแลเสถียรภาพค่าบาทได้ เอกชนผวาเงินบาทผันผวนหนัก ไม่มั่นใจแบงก์ชาติดูแลเสถียรภาพตลาดเงินได้
วันนี้ (19 มี.ค.) นายแพทย์ (นพ.) สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนมาตรการติดตามดูแลค่าเงินบาท ก็ยังใช้ได้ดีอยู่ โดยรัฐบาลจะเน้นดูแลภาคการส่งออกเป็นพิเศษ
โดยวันนี้ ค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 31.16/21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากวานนี้ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.20/23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังเกาะกลุ่มค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย พร้อมระบุว่า ในปีนี้ เงินบาทต่อดออลาร์แข็งค่าขึ้นไปแล้วกว่า 8% เป็นอันดับสองรองจากเงินเยนของญี่ปุ่น
นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท หลังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่า ขณะนี้ มาตรการที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ใช้ในการดูแลเสถียรภาพค่าบาทยังเป็นไปได้ด้วยดี แม้ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท.จะดูแลเรื่องเสถียรภาพค่าบาทอย่างใกล้ชิด แต่ไม่มีนโยบายที่จะนำมาตรการกันสำรอง 30% มาใช้อีก
ทั้งนี้ ยอมรับว่า เศรษฐกิจในปัจจุบัน เรื่องของราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด แต่ทุกฝ่ายไม่ควรวิตกมากเกินไป เนื่องจากรัฐบาลกำลังผลักดันและเร่งการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อีกทั้งจะเร่งการสร้างรายได้ให้ภาคประชาชนทั่วประเทศเพื่อฟื้นการบริโภค
ส่วนกรณีที่ค่าบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้น แม้จะมีผลกระทบต่อการส่งออก แต่เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการแข็งค่าของค่าบาทยังสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการขณะนี้ คือมาตรการระยะยาว ในเรื่องการเร่งสร้างรายได้ของประชาชนให้เพิ่มขึ้นทั้งประเทศเพราะขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ คือ การลดผลกระทบชั่วคราวไม่ให้รายจ่ายของประชาชนสูงขึ้น
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง วานนี้ ภาคเอกชนไม่มั่นใจว่าในระยะต่อไป แบงก์ชาติจะรับมือกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกได้หรือไม่ เนื่องจากการลดดอกเบี้ยลงของเฟดจะทำให้มีเงินลงทุนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าขึ้นผู้ส่งออกรายเล็กก็ต้องเทขายดอลลาร์ออกมาเพื่อความอยู่รอด
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศให้มีความเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบทุกๆ ด้าน