ส่งออกเต้น ค่าเงินบาทแตะ 32.90 บาท/ดอลลาร์ แข็งที่สุดในรอบ 10 ปี จี้แบงก์ชาติ เร่งแก้ปัญหาด่วน โดยปรับลดดอกเบี้ย พร้อมระบุต้นเหตุเกิดจากเงินทุนนอกทะลักเข้า หลังเฟดลดดอกเบี้ย 0.5% ทำให้เกิดส่วนต่างดอกเบี้ย เป็นช่องให้เกิดการเก็งกำไร
วันนี้ (1 ก.พ.) นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันนี้ เกิดจากปัญหาการไหลทะลักของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งประเด็นที่กำลังน่าเป็นห่วง ได้แก่ ภาคการส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากความผันผวนของค่าเงิน แม้จะมีมาตรการ 30% ป้องกันความเสี่ยง แต่คงไม่เพียงพอ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยในไทยสูงกว่าอัตราของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจทำให้มีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนมาก และจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก
โดยภาวะค่าเงินบาทในการซื้อขาย เช้าวันนี้ แข็งค่าแตะ 32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าสุดในรอบมากกว่า 10 ปี โดยล่าสุดซื้อขายกันที่ระดับ 32.92/96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าวันนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นให้กรอบไว้ที่ 32.89-32.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ควรจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือในระดับเดียวกัน เพื่อช่วย ผู้ส่งออก โดยควรจะพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปทันที
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรคงนโยบายกันสำรอง 30% ต่อไป ในสถานการณ์ที่ยังผันผวนในขณะนี้
“ธปท.ควรเร่งหารือกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และต้องมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทด้วย เพราะสถานการณ์ของผู้ส่งออกจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับท่าทีของ ธปท.เป็นสำคัญ”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 28 ธ.ค.2550- 18 ม.ค.2551 ธปท.ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(forword) ไปแล้วประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วง 14-18 ม.ค.2551 มีการสัญญามากถึง 2 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเข้าบริหารเงินบาท แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานไว้ได้ และถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดผลขาดทุน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ยังคงแข็งค่าเกาะกลุ่มกับค่าเงินในภูมิภาค โดย เงินบาทแข็งค่า 2.16% เงินเยน แข็งค่า 4.7% เงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย แข็งขึ้น 2.07% เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งขึ้น 1.57% และเงินเปโซของฟิลิปินส์ แข็งขึ้น 1.67%
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย มองว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดเป็นครั้งที่ 2 น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ถดถอยและตลาดจะไม่ซบเซาอย่างที่คาดการณ์กันไว้ แต่ที่น่าห่วงคือ ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งผู้ส่งออกคงต้องรอดูท่าทีของ ธปท. และกระทรวงการคลัง จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร ในส่วนของนักธุรกิจ ต้องการให้ ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยที่ยังสูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้มีเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไป