xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ถกรับมือ 30% พรุ่งนี้ นายแบงก์แนะจับตาตลาดออฟชอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชน 3 สถาบัน นัดถกด่วนจันทร์นี้ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบมาตรการ 30% พร้อมกำหนดจุดยืนเสนอรัฐบาล ด้านนายแบงก์เชื่อพรุ่งนี้ ตลาดอาจเจอความผันผวนแรง แนะจับตาเม็ดเงินตลาดออฟชอร์ทะลัก ธปท.อาจรับมือไม่ไหว ขณะที่ รมว.คลัง ยืนยัน ไม่มีคนในเป็นอินไซเดอร์ แอบใช้ข้อมูลนำไปเก็งกำไร

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบไปด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันจันทร์ที่ 3 มี.ค.นี้ จะมีการหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มี.ค.นี้

นายสันติ กล่าวด้วยว่า จะมีการหารือกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้เตือนให้สมาชิกระวังการแข็งค่าของค่าเงินบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกให้แพงขึ้น โดยยอมรับว่าเป็นห่วงการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากนักเก็งกำไรภายหลังยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคเอเชียก็ไม่น่าห่วง แต่เกรงว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังไม่มั่นใจว่าว่ามาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาเพิ่มเติม เช่น การปรับโครงสร้างบัญชีเงินบาทของบุคคลผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ จะใช้ป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ผลมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น จึงขอให้สมาชิกระวังการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังจากที่ ธปท.ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ทางหอการค้าไทยได้ชี้แจงมาก่อนแล้วว่า หากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เลยอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบกับผู้ส่งออกเพราะค่าเงินของไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ขณะนี้มาตรการเสริมที่ออกมาก็ยังไม่ชัดว่าจะทำให้เงินบาทดีขึ้นอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลคงมีมาตรการเสริมออกมาอีก หากไม่มีมาตรการอะไรเลยก็จะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประชุมฯ กกร. ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ คงต้องนำการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% มาหารือ คงต้องรับฟังความเห็นของสมาชิกหอการค้าไทย ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทยว่าเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยถ้าได้ข้อสรุปอะไรจากที่ประชุมก็อาจจะกำหนดเป็นจุดยืนของ กกร.เพื่อเสนอให้แก่รัฐบาลพิจารณาต่อไป

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า มาตรการกันสำรอง 30% อาจทำให้ค่าเงินบาทนิ่งได้ระดับหนึ่ง และการที่ ธปท.ยกเลิกขณะนี้ด้วยการอ้างว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องนี้เห็นว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะประกาศก็ยังไม่มีผลทันที ขณะนี้มีเพียงสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่เศรษฐกิจที่ดียังไม่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดีขึ้นและความเชื่อมั่นในอนาคต 3 เดือนดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึกของผู้ประกอบการ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลักยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ว่ามีความน่าเป็นห่วงมาก ถ้าไม่มีมาตรการอื่นมารองรับซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากไม่มีมาตรการมาดูแลแล้ว อัตราดอกเบี้ยของไทยยังเป็นสิ่งจูงใจ ดังนั้นอาจเห็นระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้การส่งออกเผชิญกับความยากลำบากจนทำให้ยอดส่งออกลดลงในไตรมาส 2 ปีนี้

เมื่อ ธปท.ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ก็ต้องมีมาตรการอื่นรองรับ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการสกัดเงินนอกไหลเข้าประเทศ เห็นว่า ธปท.ควรดำเนินการมานานแล้ว ส่วนการส่งออกข้าวหากมีการแข็งค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นทุก 1 บาท จะทำให้การกำหนดราคาเพิ่มขึ้น 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ส.อ.ท.เคยเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลแล้วว่า ควรคงมาตรการนี้ต่อไปก่อนสักระยะจนกว่าจะแน่ใจว่าเศรษฐกิจดีขึ้น โดยควรรอเวลาต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาและให้มีผลชัดเจนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเสียก่อน และยืนยันได้ว่าเมื่อยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แล้วค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ หาก ธปท.มีข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยและยืนยันได้ว่าเมื่อยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไปแล้วรักษาเสถียรภาพได้ก็ต้องยอมให้มีการยกเลิก แต่ถ้ายกเลิกไปแล้วมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนหรือแข็งค่าขึ้นอย่างมากก็ควรมีการทบทวนการยกเลิกมาตรการดังกล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าการยกเลิกมาตรการ 30% จะทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยมีความผันผวนขึ้นมากพอสมควร ซึ่งจะยิ่งสร้างความยุ่งยาก และเพิ่มภาระต้นทุนในการดูแลให้ ธปท.มากขึ้น เพราะเม็ดเงินจากตลาดออฟชอร์จะไหลเข้ามาได้เสรี รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดการเก็งกำไรได้เช่นเดียวกับก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการนี้ ส่งผลให้บาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่วนจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับ ธปท.ว่าจะเข้ามาแทรกแซงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นเมื่อมองจากมิตินี้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการแทรกแซงมากเกินไป ธปท.อาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

นายเสถียร ตันธนะสฤษดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) เชื่อว่าค่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งขึ้นพักหนึ่ง แต่ไม่น่าจะแข็งค่าเกินกว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดออฟชอร์จะถูกปิดลง โดยวานนี้ค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์ปิดตลาดประมาณ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดออฟชอร์อยู่ที่ระดับ 31 บาท ทำให้คาดว่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าจะอยู่ที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เชื่อว่า ธปท.จะเข้ามาดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะๆ หากเห็นว่ามีความผันผวนมาก

**"เลี้ยบ" ยันไม่มี "อินไซเดอร์" เก็งกำไร

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า การประกาศยกเลิกมาตรการ 30% ของ ไม่มีคนวงในที่ล่วงรู้ข้อมูลล่วงหน้า(อินไซเดอร์) จนทำให้เกิดการเก็งกำไรตามที่เป็นข่าว เนื่องจากการหารือกับแบงก์ชาติตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในส่วนของกระทรวงการคลังเอง นอกจากตนแล้ว มีผู้รับรู้ข้อมูลเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าการเก็งกำไรที่เกิดขึ้น เกิดจาการคาดการณ์ของนักลงทุนล่วงหน้า

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการเปิดตลาดค้าเงินในวันพรุ่งนี้จะไม่เกิดความผันผวนและค่าเงินบาทจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากภูมิภาคมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น