xs
xsm
sm
md
lg

2551 สู่ฐานเศรษฐกิจในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

ปี 2551 อาจจะเป็นปีที่เป็นการเริ่มต้นในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่ภาวะความสมดุลมากขึ้น ภาวะความสมดุลที่ว่านี้ คือ การลดบทบาทของภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยเฉพาะ “ภาคการค้าระหว่างประเทศ” และเพิ่มบทบาทของภาคเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น

การที่เศรษฐกิจไทยต้องกลับมาสู่ความสมดุล โดยเน้นฐานเศรษฐกิจในประเทศนั้น เพราะว่าสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และความจำเป็นของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตัวกำหนดให้ประเทศไทยต้องพึ่งพิง ภาคการค้าระหว่างประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงไป และการพึ่งพิงภาคการค้าระหว่างประเทศในระดับสูงนั้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดินอยู่บนความเสี่ยงซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงรวมทั้งเผชิญกับความผันผวนจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องผันผวนตาม ในกรณีของประเทศไทยรายได้จากภาคการค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกต่อรายได้ประชาชาติ (GDP) ในปี 2549 อยู่ที่ 74% ทั้งนี้สัดส่วนรายได้จากการส่งออกของไทยต่อ GDP ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงและถือว่าเปิดรับต่อความผันผวนจากเศรษฐกิจระหว่างประเทศค่อนข้างมาก

ความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอธิบายด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือ

ประการแรก การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกต่อ GDP ในระดับสูงนั้น มาจากความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งหารายได้ในรูปของเงินตราระหว่างประเทศมาชำระหนี้ต่างประเทศในช่วงวิกฤติ 2540 ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนรายได้จากการส่งออกต่อ GDP ของไทยในปี 2539 อยู่ที่ 39% และปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกมาตั้งแต่ ปี 2527 แล้วก็ตาม

นอกจากการหารายได้เงินตราต่างประเทศมาชำระหนี้ต่างประเทศแล้ว ยังต้องเร่งหารายได้ในรูปของเงินตราระหว่างประเทศมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างมากในปี 2540 อันเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้เป็นทุนรอนในการต่อสู้กับนักเก็งกำไรโดยไม่พิจารณาปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย อันที่จริงควรระบุด้วยว่าอุปนิสัยของธนาคารแห่งประเทศไทยในการชอบต่อสู้กับนักเก็งกำไรไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นก่อน 2 กรกฎาคม 2540 หรือ 18 ธันวาคม 2549 การเสพติดอุปนิสัยชอบเอาชนะนักเก็งกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยไม่พิจารณาปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ในปัจจุบันหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของไทยปรับลดลงมากจากปี 2542 ที่เคยสูงถึง 73% โดยในปี 2549 ลดลงอยู่ที่ 33% (ใกล้เคียงกับปี 2524) และทุนสำรองของไทยในปัจจุบันสูงถึง 94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าเป็นจำนวนเงินทุนสำรองที่สูงที่สุด (ตัวเลข ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551) ในขณะที่เมื่อเทียบกับปี 2540 ซึ่งอยู่ที่ 27 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นความจำเป็นในด้านการหารายได้ระหว่างประเทศเพื่อการชำระหนี้ต่างประเทศและเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น ในขณะนี้ถือว่าไม่จำเป็นแล้ว

ประการที่สอง คือ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไปกล่าวคือ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และเศรษฐกิจของประเทศในทวีปยุโรป และญี่ปุ่นกำลังชะลอตัวลงตาม (Slowdown) ผนวกกับค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯกำลังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญกับ ผลทางรายได้ (Income Effects) และผลทางราคา (Price Effects) ที่กระทบต่อการส่งออก ผลทางรายได้หมายถึงการที่รายได้ของผู้บริโภคในที่นี้คือรายได้ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าต้องลดลง ในขณะที่ผลทางราคาหมายถึงการที่ราคาสินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงโดยเปรียบเทียบเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นการที่ราคาสินค้าส่งออกของไทยสูงขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าส่งออกของไทยลดลง ข้อสังเกตเฉพาะประเทศไทยคือการที่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการอ่อนค่าลงมากของค่าเงินสหรัฐเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท โดยการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2534 และ 2544 ค่าเงินของสหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4.1% และ 5.4% ตามลำดับ แม้ว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะหดตัวอยู่ที่ -1.4 % และ -6.3 % ตามลำดับ อีกนัยหนึ่ง กล่าวได้ว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในอดีต (ปี 2534 และ 2544) ผู้ส่งออกไทยเผชิญเฉพาะผลทางรายได้ แต่ในการถดถอยทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ผู้ส่งออกไทยเผชิญทั้งผลทางรายได้และผลทางราคา ดังนั้นการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าอาจจะลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

สถานการณ์ของภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และไม่มีความจำเป็นอีกแล้วที่ประเทศไทยต้องหารายได้เงินตราต่างประเทศในระดับที่สูงเหมือนเช่นหลังปี 2540 จึงควรที่ภาคการเมืองและผู้บริหารนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจมหภาคต้องทบทวนความสำคัญของภาคส่งออกและภาคเศรษฐกิจในประเทศให้สมดุลและสอดคล้องกับสถานการณ์

เพราะที่ผ่านมานโยบายเศรษฐกิจมหภาคมุ่งเน้นการรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งออกดังจะเห็นได้จากการกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเกินความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นจำนวนมหาศาลและความพยายามมุ่งเอาชนะนักเก็งกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งต้องลงทุนไปกับการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งผลที่สุดแล้วค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆแในแถบเอเชียซึ่งไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดเช่นประเทศไทย

ในขณะที่กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการปรับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไปฝืนได้ และในภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันโลกถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นตาม การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศโดยการให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเพื่อลดราคาน้ำมันและการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนของเอกชนในประเทศจะเป็นทางออกเดียวที่ลดความผันผวนจากภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้การเร่งการลงทุนในประเทศจะมีส่วนนำเข้าสินค้าทุนซึ่งมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาทมีความสมดุลมากขึ้นและไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น