xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์ชี้ยกเลิกสำรอง30% ส่งสัญญานรับเงินทุนทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-นายแบงก์ประสารเสียง แนะรัฐบาลใหม่พิจารณายกเลิกมาตรการสำรอง 30 % หวังระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ เพื่อมาใช้ลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ และส่งสัญญาณให้นักลงทุนต่างชาติ รับรู้ถึงนโยบายของไทยในการเปิดกว้างรับการลงทุนจากทั่วโลก

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาย้ำจุดยืนที่ชัดเจน เกี่ยวกับมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30 % เมื่อ 17 ธันวาคม 2550 โดยมองว่าตลาดเงินของไทยยังมีความผันผวนอยู่ จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุม ไม่ให้ตลาดเงินเกิดการผันผวน และค่อยๆผ่อนครายมาตรการ ลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจท่ามกลางความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกดดันต่อค่าเงินสกุลหลักและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการกันสำรองตลอดจนระเบียบควบคุมเงินทุนออกนอกประเทศเพิ่มเติมบางส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระของภาคธุรกิจ และรักษาสมดุลของกระแสการไหลเวียนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในครั้งนี้ประกอบด้วย 1) การผ่อนคลายมาตรการกันสำรองเพิ่มเติม ในส่วนของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจ และเงินลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ 2) การผ่อนคลายระเบียบด้วยการเพิ่มวงเงิน และผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับเงินลงทุนโดยตรงและเงินให้กู้ยืมในต่างประเทศ การฝาก FCD ในประเทศ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

ธปท.คงมาตรการ 30%
ชี้ตลาดเงินยังผันผวน


นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท.จะยังไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % เนื่องจากตลาดเงินยังมีความผันผวน โดยจะขอดูสถานการณ์การไหลเข้าออกของเงินทุนในปี 2551 อีกครั้ง แม้ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มค่าเงินภูมิภาค โดยตั้งแต่ปลายปี 2549 จนถึงต้นเดือน พ.ย.เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่า 6 % เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ขณะที่มีบางประเทศในเอเชียที่ค่าเงินแข็งค่ากว่านี้

" ตั้งแต่วันแรกที่ ธปท.ประกาศใช้มาตรการ 30 % เคยบอกไว้แล้วว่าเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะตลาดเงินยังผันผวน ดังนั้น จะต้องรอจนถึงปีหน้าและดูกันใหม่ แม้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทจะต้องแข็งค่า จึงอยากเตือนผู้ส่งออกอย่าไปคาดเดาว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปทิศทางใด และอย่าเก็งกำไร เพราะอาจจะทำให้เสียหาย" ผู้ว่าการธปท.กล่าว

จากการ การผ่อนปรนมาตรการกันสำรอง 30 % ของธปท.ในครั้งนี้ สะท้อนถึงท่าทีของการถอยออกจากมาตรการดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาเป็นสำคัญ และแม้ว่าในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการประกาศใช้มาตรกาสำรองธปท.ได้มีการทบทวนและผ่อนปรนมาตรการกันสำรองมาเป็นระยะๆ ซึ่งรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการครั้งล่าสุดนี้แต่เป็นที่คาดการณ์ว่ากระแสการเรียกร้องให้ธปท.ประกาศยกเลิกการใช้มาตรการนี้น่าจะยังคงมีอยู่ และอาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคตหากธปท.ยังคงดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไป ซึ่งไม่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ธปท.จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร ย่อมมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนะยกเลิกสำรอง 30% ปลายปี 51

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ที่ขยายวงกว้าง และยังไม่ทราบว่าจะถึงจุดสิ้นสุดช่วงใด ดังนั้น หากตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีกในเดือนมกราคม 2551 ก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงและโยกมาลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่น และส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียต่อเนื่องจากปีนี้ รวมทั้งอาจเป็นแรงกดดันค่าเงินบาทปีหน้าอีกด้วย

"ซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯขณะนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยมากน้อยเพียงใด แต่ในส่วนของภาคการส่งออก อาจชะลอตัวลงบ้างตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นเดียวกับจีดีพีในปี 2544 ที่เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติ ซึ่งครั้งนั้นมีผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย โดยเศรษฐกิจของสหรัฐลดลง 1% ส่งผลให้จีดีพีไทยลดลง 0.8%"

ส่วนกรณี ที่มาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% ที่ใช้มาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม จากการประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในปีที่ผ่านมา มองว่าจังหวะที่เหมาะสมที่ธปท. อาจยกเลิกช่วงปลายปี 2551 เพราะปัจจุบันเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่า หากจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวควรจะต้องดูให้รอบคอบ ดูให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้สงบเรียบร้อยก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาซับไพรม์ แรงกดดันค่าเงินดอลลาร์ หากทุกอย่างนิ่งแล้วน่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมในการพิจารณายกเลิก

เชื่อนักลงทุนต่างชาติยังไม่เทขายหุ้น

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % ที่ยังควบคุมตลาดตราสารหนี้อยู่ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งระดมทุนที่สามารถนำมาใช้ลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) และจะเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบว่า ไทยเปิดกว้างรับการลงทุนจากทั่วโลก

ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยต้องเตรียมรับกระแสเงินไหลเข้าออกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกเกิดความผันผวนระยะนี้ ยืนยันการเข้ามาลงทุนของต่างชาติขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณผิดปกติ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 ที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 106,830 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่มีการเทขายทำกำไร หรือถอนการลงทุนจากตลาดหุ้นไทยตามที่หลายฝ่ายวิตก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติที่นำเงินระยะสั้นมาลงทุนในประเทศไทย สามารถนำเงินออกได้เต็มจำนวน โดยเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลัก

จากข้อมูลตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. ของปีที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นและให้ผลตอบแทน 33.5 % อยู่ในระดับใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในเอเชียที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20-35 % และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป สูงถึง 7 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงมูลค่าจีดีพีของประเทศที่ 7.8 ล้านล้านบาท และถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 เมื่อเทียบตลาดหุ้นทั่วโลก

เร่งสร้างความชัดเจน

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นโยบายกันสำรอง 30 % ควรที่จะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่คงจะต้องพิจารณากันถึงประเด็นดังกล่าวแน่นอน เพราะยังมีบางประเด็นของมาตรการเป็นอุปสรรค์ต่อตลาดเงินและตลาดทุน เช่น ตราสารหนี้

ในที่สุดแล้ว มาตรการกันสำรอง 30% คงจะต้องถูกยกเลิกไป เพราะจะมีผลในการช่วยยับยั้งการแข็งค่าและสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นมาตรการชั่วคราว อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว รัฐบาลใหม่ควรคำนึงถึง 3 เงื่อนไขหลักอย่างรอบคอบ คือ "การหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม" เช่น ช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ ค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพื่อลดภาระของทางการในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน "การส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับตลาด" เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่าทางการยินยอมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามกลไกตลาดอย่างไร้ขอบเขต รวมทั้ง "การสรรหามาตรการที่มีประสิทธิภาพมารองรับ" ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบในกรณีที่ตลาดเงินโลกเผชิญความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

ทั้งนี้ การคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะช่วยเกื้อหนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ ไม่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น หรือเคลื่อนไหวผันผวนเกินขอบเขตที่ยอมรับได้ จนมีผลซ้ำเติมภาคการส่งออก ที่ได้รับปัจจัยลบอยู่แล้วจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยในปี 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น