xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกผวาบาทแข็งหนัก นัดถกด่วน-เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ส่งออกเรียกประชุมด่วนทันที เพื่อประเมินสถานการณ์ และความพร้อมรับมือผลกระทบ หลังแบงก์ชาติยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% กังวลตัวเลขไตรมาส 2 ทรุดฮวบ

วันนี้ (29 ก.พ.) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เตรียมประชุมด่วนเพื่อประเมินผลกระทบหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนต่างประเทศ 30% ระยะสั้น ซึ่งเบื้องต้นมองว่า หากเงินบาทแข็งค่ามากจะกระทบถึงเกษตรกร เพราะผู้ส่งออกต้องลดราคารับซื้อสินค้าเกษตรลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าบาทที่ผันผวนทำให้การเสนอราคาทำได้ยาก เพราะไม่สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมได้ หากกำหนดราคาต่ำไปเมื่อเงินบาทแข็งค่าก็จะทำให้ผู้ส่งออกขาดทุน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการได้ปรับตัวรับมือกับค่าเงินบาทในระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่หากเงินบาทแข็งค่าและผันผวนต่อเนื่องเช่นนี้จะทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง

ขณะที่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% มีความน่าเป็นห่วงมาก หาก ธปท.ไม่มีมาตรการอื่นมารองรับ เพราะจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากการที่เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าไทยจำนวนมาก เพราะดอกเบี้ยของไทยยังมีความจูงใจ ซึ่งอาจเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะทำให้การส่งออกข้าวต้องเผชิญกับความยากลำบากจนทำให้ยอดส่งออกลดลงในไตรมาส 2 ปีนี้

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการยกเลิกมาตรการ 30% ภาคการส่งออกต้องลำบากแน่ ปีที่แล้วทั้งปีค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 8% แต่ปีนี้ 2 เดือนเฉลี่ยใกล้เคียงปีที่แล้วทั้งปีแล้ว ทั้งยังยกเลิกมาตรการ 30% อีกไม่ทราบว่าจะแข็งขึ้นไปอีกเท่าใด ส่วนมาตรการรองรับที่ทางธปท.ประกาศออกมานั้นเช่นมาตรการสนับสนุนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ทราบว่าจะมีสถาบันการเงินที่มีความพร้อมไปลงทุนกันมากน้อยแค่ไหน เงินที่ออกไปลงทุนจะสมดุลกับเงินไหลเข้าหรือไม่

**บาทแข็งเกือบ 10% ส่งออกหมดแรง

นายทศพล ตันติวงษ์ ประธานกรรมการบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เรื่องของค่าเงินมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีมาตรการ 30% ค่าเงินยังมีความผันผวนอยู่มาก หากยกเลิกไปถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายของการส่งออก อดีตผู้ส่งออกได้โยนภาระให้กับผู้ซื้อเกือบทั้งหมดแต่วันนี้อย่างเช่นแป้งมันสำปะหลังหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาขึ้นไปถึงตันละกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว หากแข็งค่าขึ้นไปอีกไม่ทราบว่าผู้ซื้อจะรับราคาใหม่ไหวหรือไม่ ส่วนมาตรการที่ออกมาเช่นการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนให้เอสเอ็มอี วงเงิน 40,000 ล้านบาท เมื่อมีภาระเรื่องดอกเบี้ยแล้วยังมีปัญหาส่งออกค่าเงินบาทอีกคงไม่ได้เป็นมาตรการจูงใจ

** "หมอบุญ" แนะอย่าให้เงินแข็งเกินไป

น.พ.บุญ วนาสิน เจ้าของโรงพยาบาลปิยะเวท และประธานกรรมการบริหารบริษัทราชธานีบ้านและที่ดิน จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เห็นด้วยกับมาตรการกันสำรอง 30 % ของธปท.อยู่ก่อนแล้ว เพราะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงสำหรับบริษัทและ เอกชนที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขายให้ต่างชาติ ที่ต่างยกเลิกการจอง และ อพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงรายที่สนใจนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศด้วย

"เมื่อรัฐบาลชุดสมัคร 1 ยกเลิกมาตรการกันสำรองดังกล่าว จะส่งผลดีอย่างมากทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นจะคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลกลับ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วน มาตรการสนับสนุนการลงทุนในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั้น รู้สึกเห็นด้วย แต่จะต้องป้องกันค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น