“หมอเลี้ยบ” เตรียมประกาศยกเลิกมาตรการ 30% ภายใน 2-3 วันนี้ หลังแบงก์ชาติป้อนข้อมูลครบแล้ว พร้อมยอมรับ สนใจแนวคิด “ธีระชัย” ชี้ชัดมาตรการใดไม่ต้อนรับนักลงทุน ก็ไม่ควรเก็บไว้ ขณะที่ สศค.รับลูกทันควัน ยืนยัน คลังมีอำนาจกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.เงินตรา แต่ไม่เกิน 90 วัน และสั่งผู้ว่าการ ธปท.ให้ยกเลิกกันสำรองได้ ตาม พ.ร.บ.แบงก์ชาติ พร้อมหนุนฟิกซ์ค่าเงินบาท ลดเก็งกำไรได้
วันนี้ (29 ก.พ.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคลัง กล่าวถึงกระแสข่าวการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินลงทุนระยะสั้น โดยยอมรับว่า ตนเองจะสรุปการยกเลิกมาตรการ 30% ภายในไม่กี่วันนี้ เนื่องจากได้รับข้อมูลเพิ่มจากธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่ขอเพิ่มเป็นบางส่วนแล้ว ซึ่งการยกเลิกจะต้องหามาตรการอื่นมารองรับไม่ให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาท จนทำให้ความผันผวน
“ถ้ามาตรการที่ไม่ต้อนรับนักลงทุน คลังก็ไม่อยากที่จะเก็บไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ในประเทศและต่างประเทศ ส่วนเรื่องการดูแลเสถียรภาพค่าเงินต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงข้อเสนอการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่นายธีระชัยภูวนาถนรานุบาลเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยยอมรับว่า เป็นแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ แต่เรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่ทำได้ในช่วงสั้น ต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดก่อน ส่วนการจะใช้อำนาจมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ให้อำนาจ รมว.คลัง กำหนดวิธีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้นั้น ยังต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดก่อน
โดยมาตรา 8 กำหนดว่า รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระบบใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร หากมีเหตุอันควร แต่ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยในกรณีที่ไม่สามารถการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมได้ในขณะนั้น โดยการออกพระราชกฤษฎีกา
สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทแตะระดับ 31.20 บาท ในวันนี้ เข้าใจว่าแบงก์ชาติยังคงเข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเพื่อไม่ไห้แข็งค่ามากกว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ กนง.คงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว โดยคำนึงถึงเสถียรภาพค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อ แต่คงจะต้องมีการติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า กนง.เป็นห่วงเงินเฟ้อว่าจะมีปัญหาและคิดว่าการลงทุนเองก็เติบโตขึ้นมา ดังนั้นการใช้ดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุนก็อาจจะจำเป็นน้อยลง
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าคลังมีอำนาจที่จะสั่งการผู้ว่าฯ ธปท. ให้ดำเนินนโยบายตามรัฐบาลได้ ตามกฎหมาย (พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งได้ให้อำนาจไว้ ถ้าผู้ว่าธปท.ไม่ปฎิบัติตามก็สามารถปลดได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าแบงก์ชาติก็ถูกปลดไปหลายคน เนื่องจากขัดนโยบายรัฐมนตรีคลัง
“แม้ว่าคลังจะไม่สามารถประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ได้เอง เนื่องจากเป็นประกาศเจ้าพนักงานของแบงก์ชาติ แต่รัฐมนตรีคลังก็สามารถให้นโยบายธปท.ไปปฎิบัติได้ ตามอำนาจที่ให้ไว้ใน พ.ร.บ.แบงก์ชาติ”
ดังนั้น แนวทางที่ นายธีระชัย เสนอ จึงเป็นทางออกของแบงก์ชาติ โดย Fix อัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่กับตะกร้าเงินสกุลสำคัญ เช่นเดียวกับที่ทำในประเทศจีนและสิงคโปร์ การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยอิงกับตะกร้าเงิน ในยามที่ค่าเงินแข็งอยู่แล้วไม่น่าจะเสียหายอะไร โดย Fix ไม่ให้แข็งกว่าความเป็นจริง และไม่ได้ Fixในอัตราแลกเปลี่ยนเดียวกันตลอดไป โดยอาจปรับเปลี่ยนโดย Refix อัตราแลกเปลี่ยนใหม่หากจำเป็น ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ใหม่ได้
“การทำเช่นนี้ไม่เหมือนกับในช่วงก่อนวิกฤตคราวที่แล้ว ที่ Fixค่าเงินบาทไว้ที่อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งเกินความเป็นจริง ทำให้เกิดการเก็งกำไรทุบค่าเงินบาท โดยข้อดีของการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่นอกจากจะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งมีทั้งการส่งออก และการลงทุน”
นอกจากนี้ แบงก์ชาติจะไม่ขาดทุนเพิ่มไปกว่าที่เป็นอยู่ จนถึงวันที่ Fix ค่าเงินบาท ขณะที่ผู้ส่งออกก็จะไม่ซ้ำเติมหรือไม่เก็งกำไรโดยการขายดอลลาร์สหรัฐฯและซื้อบาทเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันก็จะมีคนช่วยซื้อดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้นำเข้าและประชาชนทั่วไป ส่งผลค่าเงินบาทก็จะมีเสถียรภาพ อย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งและเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรลดลงซึ่งจะช่วยซื้อเวลาให้แบงก์ชาติแก้ไขสถานการณ์ เช่น ลดหนี้ และคิดหามาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าออกที่ดีกว่าเดิม
**บาทแข็งแตะ 31.90 บาทต่อดอลลาร์
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.90/95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 32.00/05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นผลมาจากเงินสกุลดอลลาร์อ่อนค่า และแนวโน้มค่าเงินบาทของไทย ที่ยังแข็งค่าขึ้น รวดเร็ว และต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ โดยวันนี้ ถือว่าเป็นการแข็งค่ามากสุดในรอบ 10 ปี
ส่วนเงินยูโรเปิดตลาดวันนี้แข็งค่าขึ้นที่ระดับ 1.5173/5178 ดอลลาร์ต่อยูโร และขณะนี้อยู่ที่ระดับ 1.5070/5080 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนเปิดตลาดปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นกันที่ระดับ 104.60/70 เยน/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 106.70/75 เยนต่อดอลลาร์
“วันนี้คาดว่า เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากสถานการณ์เงินดอลลาร์อ่อนค่าในตลาดโลก หลังจากเมื่อคืนนี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาเตือนว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมีโอกาสที่จะประสบปัญหาภาวะทางการเงินค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาคธุรกิจการเงินของสหรัฐว่าอาจจะเกิดปัญหาในอนาคต ขณะเดียวกันการส่งสัญญาณเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยคาดว่า ช่วงการประชุมในเดือนหน้าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง
**ผู้ว่าฯ ธปท.ยืนยันดูแลใกล้ชิด
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยืนยันว่า กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยแตะระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันนี้ เกิดจากประเด็นเดิม คือ ตลาดเงินและตลาดทุนมีการคาดการณ์ว่า ธปท.จะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ส่วนปัจจัยอื่น เช่น การเทขายดอลลาร์มากหรือไม่นั้น ไม่ขอออก ความเห็น เพราะเรื่องนี้มีความอ่อนไหวถ้าพูดไปจะมีผลกระทบมาก
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของประเทศไม่ขอพูดในเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมายอมรับว่าค่าเงินในหลายประเทศสลับทุบสถิติการแข็งค่ากันทั้งนั้น ซึ่งปัจจุบันค่าเงินของไทยถือว่าแข็งค่ามากสุดหากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค แต่จะดูรายวันไม่ได้ต้องดูระยะยาว เพื่อสะท้อนความเป็นจริง
หากดูข้อมูลการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะดูช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้ต้องดูระยะยาว และการแข็งค่าของค่าเงินไทยเป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นการเกาะกลุ่มกันอยู่ไม่เหมือนปลายปี 2549 ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในทิศทางเดียว หรือสวนทางกับค่าเงินในภูมิภาค
นางธาริษา ยืนยันว่า ปัจจุบัน ธปท.ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ส่วนการแทรกแซงค่าเงินบาทมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องดูเงินทุนสำรองทางการว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยปกติมีการเผยแพร่ข้อมูลทางในเว็บไซต์ของธปท.ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พร้อมที่จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับ รมว.คลัง เกี่ยวกับการใช้มาตรการ 30% แต่เป็นเมื่อไรนั้น ยังบอกไม่ได้