xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปรับสมมติฐานน้ำมัน รอขุนคลังคนใหม่รื้อกรอบเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กนง.ยืนกระต่ายขาเดียว ไม่มีการปรับกรอบเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงิน อ้างยังไม่ได้ตัว รมว.คลังคนใหม่ และกฎหมายใหม่ยังไม่บังคับใช้ตอนนี้ เผยการประชุม กนง.ครั้งถัดไป 16 ม.ค.นี้ ปรับประมาณการราคาน้ำมันให้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ แม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออก หวังรัฐบาลใหม่ช่วยกระตุ้น

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ไม่เกิน 4.5% จากปัจจุบันที่ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0-3.5% เฉลี่ยเป็นรายไตรมาส ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ว่า ขณะนี้ทาง กนง.ยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเรื่องการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่

แม้ใน พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ได้กำหนดให้ ธปท.และกระทรวงการคลัง หารือร่วมกันในการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละปีแล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป แต่กว่ากฎหมายใหม่จะใช้บังคับก็กลางปีหน้า นอกจากนี้ แม้มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องรอให้กระบวนการสรรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เสร็จสิ้นก่อนถึงจะนำเรื่องนี้เข้าหารือร่วมกัน

“ก่อนจะมีการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินกรรมการ กนง.จะต้องนำเรื่องนี้กลับไปศึกษาก่อนว่ากรอบเงินเฟ้อใหม่ควรอยู่ระดับใดที่เหมาะสม และจะต้องนำอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ ประกอบด้วย รวมถึงต้องพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ ก็ต้องดูว่าควรใช้เป้าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป และใช้เฉลี่ยทุกไตรมาส หรือดูระยะยาวเฉลี่ยเป็นรายปี ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายการเงินของ ธปท.เป็นผู้ดูแล แต่เท่าที่รู้ในการประชุมวันที่ 16 ม.ค.นี้จะมีการปรับประมาณการราคาน้ำมันใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า”

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า แม้ กนง.ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นางอมรา กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินได้กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ระดับ 0-3.5% ซึ่งมองว่าในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่ได้เร่งตัวมากนัก โดยเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2% ถือว่าน้อย ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.3% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ธปท.ประมาณการณ์ไว้ คือ 1.8-2.3% ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าจะช่วยเอื้อบรรยากาศในการลงทุนมากขึ้น

“ตราบใดที่ยังไม่เกิด Second Round Effect เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนจะเกิด Second Round Effect หรือไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในปีนี้ว่าจะเป็นเช่นไร แต่ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2550 อุปสงค์ภายในประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้นอย่างช้าๆ การส่งออกก็ยังดีอยู่ เช่นเดียวกับปริมาณการนำเข้าที่มีทั้งนำวัตถุดิบมาผลิตเพื่อการส่งออกต่อไป และอีกส่วนหนึ่งก็มีการบริโภคและการลงทุนในประเทศ จึงมองว่า ในปี 2550 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ5% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน ถือว่าเศรษฐกิจก็ไม่ได้แย่นัก ส่วนในปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่องได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่จะช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมอะไรได้บ้าง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งได้กำหนดกรอบเงินเฟ้อพื้นฐานในการดำเนินนโยบายการเงินได้เริ่มใช้ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2543 โดยในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุด ฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้ตั้งประมาณการเงินเฟ้อทั่วไป 1.5-2.8% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 1-2% และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 4.5-6.0% สำหรับในปี 2551 ส่วนราคาน้ำมันดูไบในกรณีฐานคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 65 เหรียญต่อบาร์เรล กรณีต่ำ 56.4 เหรียญต่อบาร์เรล และกรณีร้ายแรงสุด 82.3 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดูไบสูงกว่าระดับ 80 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น