ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับมุมมองตลาดการเงินใหม่ พร้อมคาดการณ์มติที่ประชุม กนง.27 ก.พ.นี้ อาจประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.25% หลังสภาพัฒน์ เผยตัวเลข ศก.Q4/50 โตกว่าประมาณการคาด
วันนี้ (25 ก.พ.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 27 ก.พ.นี้ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ท่ามกลางปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากจีดีพีไตรมาส 4/50 ที่สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ประกาศออกมาวันนี้เติบโตถึง 5.7% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น และรัฐบาลกำลังจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
แม้ว่าเดิมศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความโน้มเอียงไปในแนวทางที่ กนง.อาจจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% แต่การตัดสินใจของ กนง.ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน และปัจจัยที่มีความแตกต่างกันในแต่ละด้าน การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยคงจะอยู่ที่ กนง.ว่าจะให้น้ำหนักความเสี่ยงของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปในแนวทางใด
หาก กนง.มีความเห็นว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนนักต่อภาคการส่งออกของไทย กอปรกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจไม่ใช่จังหวะของการดำเนินนโยบายที่เอื้อหรือมีความเหมาะสม กนง.ก็อาจจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ไว้ที่ 3.25% ตามเดิม และรอพิจารณาการปรับตัวของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การเลือกแนวทางนี้นอกจากจะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายในโอกาสข้างหน้าแล้ว การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ยังช่วยให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ปรับตัวลงไปติดลบมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อีกมุมมองหนึ่งเชื่อว่า หาก กนง.พิจารณาแล้วเห็นว่าเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อันเป็นผลจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจรุนแรงและยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ผนวกกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้ กนง.ก็อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ในกรณีนี้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันน่าจะถูกปรับลดลงร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 3.00 โดยที่การเลือกแนวทางนี้ น่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Pre-emptive) และเป็นการดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
นอกจากนี้ การตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ยังอาจช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อการแข็งค่าของเงินบาท ผ่านการลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศและต่างประเทศ เมื่อคำนึงถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อสกัดกั้นการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกดดันเงินดอลลาร์ฯให้ยังมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก